Digital Transformation มีอะไรบ้าง

เวลานี้ คำว่าดิจิทัล (digital) ได้แทรกซึมเข้าไปในทุกกิจวัตรของคนทุกคนในยุคศตวรรษที่ 21 อย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่ตื่นเช้าไปจนถึงเวลาเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเล่น การหาความเพลิดเพลิน ไปจนถึงการหารายได้เสริม การสั่งซื้ออาหารจากร้านอร่อยและการคลายเครียดด้วยการซื้อของออนไลน์ ยิ่งในช่วงเวลาแห่งวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ด้วยแล้ว การอยู่บ้านแบบยาวๆ โดยไม่ต้องออกไปเจอหน้าใครยิ่งทำให้ดิจิทัลมีอำนาจเหนือชีวิตประจำวันของเรามากยิ่งขึ้นแบบไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน จากเดิมที่มนุษย์ต้องนั่งหรือยืนรอโดยไม่มีอะไรมาดึงความสนใจ

แต่ปัจจุบันทุกคนมีมือถือคนละเครื่อง เพียงแค่เลื่อนไถหน้าจอก็รู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างบนโลกใบนี้ การดำเนินธุรกิจมีความรวดเร็วมากกว่าเดิม ความต้องการมีหลากหลายรูปแบบและเปลี่ยนแปลงจนนักการตลาดแทบตามไม่ทัน 

ปรากฎการณ์ดังกล่าวมีการให้คำนิยามในภาษาอังกฤษว่า Digital Transformation ซึ่งหมายความว่า การบูรณาการเทคโนโลยีกับทุกมิติและสร้างความสะเทือนไปถึงฐานรากของการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ วัฒนธรรม แถมยังท้าทายค่านิยมเก่าๆ ของสังคมอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นการขาย การตลาด วิธีการคิด การแสดงออกของปัจเจกบุคคล เปิดโอกาสให้เราได้สร้างธุรกิจใหม่ๆ หรือจะปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย 

จะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ แต่มันมีนัยถึงการแปรสภาพหรือกลายร่างจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เกิดแรงส่งของการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่งและทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ลักษณะดังกล่าวชวนให้นึกถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ในโลกตะวันตกที่มีการนำเครื่องจักรมาใช้งาน ช่วงเวลาดังกล่าวก็มีการเปลี่ยนแปลงไปถึงฐานรากทางสังคมเช่นกัน เช่น มีการหลั่งไหลของแรงงานเข้าโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองหลวงมากยิ่งขึ้น ช่างฝีมือถูกลดความสำคัญลง เกิดการค้าเสรีไปทั่วโลก อัตราการค้าขายระหว่างประเทศพุ่งสูงขึ้นและตามมาด้วยความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรในดินแดนอาณา-นิคมจนนำไปสู่สงครามโลกซึ่งใช้อาวุธชนิดใหม่ที่มีพลังทำลายล้างแบบที่มนุษย์ไม่เคยเจอมาก่อน

การเปลี่ยนแปลงโลกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าวทำให้มีการนิยามคำว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0” ขึ้นมา

อะไรคือการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมในแต่ละครั้งมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการปฏิวัติที่แตกต่างกันออกไป การปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.0 หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกซึ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 มีการใช้เครื่องจักรไอน้ำและพัฒนากลายเป็นหัวรถจักรไอน้ำที่ทำให้การเดินทางใช้เวลาน้อยลงกว่าเดิม ในขณะที่ 2.0 ซึ่งเกิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นการใช้เครื่องจักรและพลังงานไฟฟ้าเพื่อผลิตสินค้าในปริมาณที่มากเพื่อส่งออก มีการผลิตรถยนต์ออกมาใช้งาน 

พอมาถึง 3.0 ในศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการใช้ระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติบางส่วนมาช่วยการผลิตในโรงงาน แต่สิ่งที่เริ่มโดดเด่นในช่วงเวลานี้ คือ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตที่เป็นผลผลิตจากวงการทหาร และในศตวรรษที่ 21 หรือ 4.0 โลกก็ได้ยลโฉมเทคโนโลยีสุดล้ำจากมันสมองที่อัจฉริยะของบรรดานักพัฒนาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตที่รวดเร็วมากกว่าเดิม ระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ การเก็บข้อมูลบนคลาวด์ ดิจิทัลทวิน และล่าสุดก็คือเทคโนโลยีบล็อกเชน เงินคริปโตและ NFT (Non-Fungible Token) ที่เราใช้สร้างเหรียญคริปโตเพื่อเป็นตัวแทนของงานศิลปะ อัลบั้มเพลงหรือคำพูดในโลกออนไลน์ของเรา และเสนอขายเหรียญนั้นให้กับคนอื่นเพื่อถือครองอันเป็นการเพิ่มมูลค่างานศิลปะชิ้นนั้นได้อีกด้วย

ดังนั้น เราอาจพูดได้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 คือการผสานระหว่างเทคโนโลยีในโลกกายภาพและโลกดิจิทัลเพื่อทำให้การผลิตมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้การผลิตในโรงงานมีความตรงจุดและตรงตามความต้องการมากยิ่งขึ้น ทำงานได้อย่างฉลาดหลักแหลมและประหยัดเวลา เครื่องจักรและมนุษย์สามารถร่วมกันคิด วิเคราะห์และคาดการณ์ผลที่จะเกิด โดยสั่งการจากระยะไกลหรือใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยให้งานง่ายยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เป็นการเปิดพื้นที่และร่นระยะทางกับเวลาให้ทุกสิ่งทุกอย่างมาเจอกันและผสานรวมกันได้ง่ายขึ้นเพื่อการผลิตที่รวดเร็ว ด้วยจำนวนที่มากขึ้นและรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าเดิม

เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงดูรวดเร็วและรุนแรงเช่นนี้

“ความเกียจคร้านเป็นแม่แบบของการสร้างประดิษฐ์”

อาจเป็นคำตอบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนี้และทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะมนุษย์ต้องการความรวดเร็วและวิถีชีวิตที่ดีกว่าเดิม ก็ย่อมต้องแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ อีกปัจจัยหนึ่ง คือ การที่เทคโนโลยีแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์และเงื่อนไขใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น แอป-พลิเคชันของบรรดาธนาคารต่างๆ ก็ตอบโจทย์เรื่องการค้าที่ต้องการการโอนเงินอย่างรวดเร็วแทนที่จะไปธนาคารซึ่งสาขาที่อยู่ใกล้ที่สุดอาจอยู่ห่างไกลเป็นกิโลเมตร หรือการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลที่แต่เดิมต้องพึ่งพาอุปกรณ์ที่ต้องพกไปไหนมาไหนตลอดอย่าง USB ก็เปลี่ยนไปเก็บอยู่บนคลาวด์โดยมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตแทน เป็นต้น

นวัตกรรมที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นและหัวข้อก่อนหน้านั้นต่างบอกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ตอบโจทย์เรื่องการผลิตที่รวดเร็วกว่าเดิม ทำให้ธุรกิจไปไวมากกว่าเดิม เปิดพื้นที่ให้กับโอกาสกับความเป็นไปได้ต่างๆ ท้าทายสิ่งเก่าและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลกระทบที่มีต่อบรรดาธุรกิจ

ผู้บริหารและคนทำงานหลายคนมองเห็นถึงโอกาสและความก้าวหน้า และอีกหลายคนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญเสียเท่าไร ถึงอย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมแบบ 4.0 ซึ่งมีอินเตอร์เน็ตและการตลาดแบบดิจิทัลเป็นตัวนำทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทุกมิติของการดำเนินชีวิต หากองค์กรไม่ปรับตัวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ ก็เตรียมตัวล่มสลายได้เลย

อย่างไรก็ตาม แม้การปฏิวัติอุตสาหกรรมแบบ 4.0 ไม่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีความแออัด ทุกคนสะดวกสบายเพราะสามารถคุยกันแบบเห็นหน้าด้วยมือถือที่แสนล้ำและสั่งอาหารจากร้านเด็ดผ่านแอปพลิเคชัน แต่หากเราเป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารระดับสูง ก็ต้องให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลง 4 ด้านใหญ่ๆ ดังนี้

  • เทคโนโลยี: พลังความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้มีอำนาจในการสร้างสรรค์และการต่อรองด้านการค้ามากกว่าเดิม และแน่นอนว่ากำไรที่จะได้รับก็มากกว่าเดิมด้วย หากใครปรับใช้เทคโนโลยีได้ดีกว่าและทำได้ก่อน ย่อมได้เปรียบ
  • อุปสงค์: ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป อยากได้สินค้าที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ มีเรื่องเล่าอยากมีประสบการณ์ที่แปลกใหม่ไปกว่าเดิมที่หาไม่ได้จากการซื้อขายแบบหน้าร้าน 
  • พฤติกรรม: ความคาดหวังจากลูกค้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วันนี้ต้องการสินค้าชนิดนี้ แต่อีกวันอาจต้องการอีกชนิดหนึ่ง
  • สังคม: เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะท้ายที่สุด ค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจะผลักดันให้เกิดความต้องการใหม่ๆ จากการคาดการณ์ตำแหน่งงาน 10 ปีตั้งแต่ปี 2016 ถึงปี 2025 พบว่าตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแพลตฟอร์มการค้าพุ่งสูงถึง 133 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และแน่นอนว่าตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายงานดิจิทัลก็จะค่อยๆ ลดลง

เมื่อนำ 4 ปัจจัยมารวมกันก็จะพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องกันโดยไม่อาจแยกปัจจัยใดออกไปได้ เพราะเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยน หน้าที่การงานใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นพร้อมกับความต้องการของผู้บริโภค จากนั้นผู้บริหารจะต้องจ้างคนที่เก่งในการตอบสนองผู้บริโภคเข้ามาทำงาน และเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน ก็ถึงเวลาที่คนทำงานและผู้บริหารคิดถึงกลยุทธ์และสินค้าใหม่ๆ ออกมาขายอีกครั้ง และแน่นอนว่า ทุกคนในองค์กรก็ต้องปรับเปลี่ยนการทำงานอีกรอบ

สิ่งเหล่านี้เป็นวงจรของการเปลี่ยนแปลงนิรันดร์ที่ต้องเจอ เป็นวงจรต่อเนื่องในแต่ละยุค มีการประดิษฐ์ คิดค้นและใช้งานเพื่อให้การทำงานและการดำเนินชีวิตของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 100 กว่าปีก็ทำให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมไปทั่วและเปลี่ยนแปลงทุกชีวิตในโลกทุนนิยมเช่นกัน

ผู้บริหารรับมืออย่างไร

นอกจากความรวดเร็วในการปรับตัวที่เป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่รอดของบริษัทต่างๆ แล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีเมื่อซื้อสินค้ากับเรา ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการที่ดี การเสนอสินค้าตรงตามความต้องการ เป็นต้น ผู้เขียนขอเสนอบริษัท Domino’s Pizza และ Walmart เป็นตัวอย่างสำหรับเรื่องดังกล่าว

หลังจากเศรษฐกิจของอเมริกาตกสะเก็ดในปี 2008 Domino’s Pizza ปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการเปิดใช้งานเทคโนโลยี Anyware ที่ใช้ติดตามคำสั่งซื้อแบบออนไลน์ได้ นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างล้ำยุคในช่วงเวลานั้น ต่อมาก็เริ่มมีการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning ในการเพิ่มคุณภาพของสินค้าและพัฒนาระบบสั่งซื้อในโลกออนไลน์ เมื่อผสานเข้ากับพิซซ่าที่ถูกปากลูกค้ามานานและการดูแลลูกค้าที่ดีแล้ว จึงกลายเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมติดตรึงใจลูกค้าไปเลย

ไม่ต่างจากยักษ์ใหญ่แห่งการค้าปลีกอย่าง Walmart ที่เตรียมงบประมาณไว้มากกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์ในการบูรณาการดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ากับบริษัท ถึงขนาดร่วมมือกับ Microsoft ในการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์และการประมวลผลข้อมูล ร่วมมือกับ Google สร้างระบบช็อปปิ้งด้วยเสียง และปรับปรุงระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การตลาด การบริการลูกค้าและการปฏิบัติงานในส่วนคลังสินค้า ผลก็คือ ลูกค้าได้รับประสบการณ์ช็อปปิ้งที่ดีมาก ราคาอยู่ในระดับมาตรฐานและทุกอย่างไม่ได้ดูเข้าถึงยากจนเกินไป

จากตัวอย่างของ 2 บริษัทที่กล่าวมา เราจะพบว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้องค์กรอยู่รอดในยุคดิจิทัล คือ การผสานเทคโนโลยีและวิธีการบริหารงานเข้าด้วยกันเพื่อทำให้สินค้าและบริการของเรายังอยู่ในสายตาของลูกค้า ทำให้ลูกค้ารู้สึกดีต่อการบริการของเราและทำให้เข้าถึงได้ง่ายนั่นเอง

พนักงานในยุคศตวรรษที่ 21 รับมืออย่างไร

แม้เราจะมีชีวิตที่ห่างไกลจากแรงงานในโรงงานแห่งศตวรรษที่ 19 แต่เมื่อองค์กรเปลี่ยน พนักงานก็ต้องแปลงร่างให้เป็นเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเก่า การทำงานก็ต้องมีการพัฒนาไปในทางที่แตกต่างกว่าเดิม เพราะการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พนักงานต้องมีทักษะที่หลากหลายมากขึ้นไม่ต่างจากการเข้ามาของเครื่องจักร

แต่สิ่งที่แตกต่างออกไป คือ วิธีการรับมือ จากเดิมที่เป็นเครื่องจักร ก็แทนที่ด้วยแอปพลิเคชันและโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงทักษะแบบ Soft Skill ที่เราต้องมีเพื่อรับมือกับความรวดเร็วและรุนแรงของโลกการทำงานที่มีมากยิ่งขึ้น

1. ทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีและแอปพลิเคชันต่างๆ

การเล่น Facebook หรือการลงรูปใน Instagram อาจเป็นสิ่งที่คุณชอบเมื่อมีภาพสวยๆ หรือช่วงเวลาสำคัญๆ ที่อยากให้คุณหรือคนอื่นจดจำ แต่หากเรารู้ข้อดี ข้อด้อยของแต่ละแพลตฟอร์มแล้วนำมาใช้เป็นช่องทางพัฒนางานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำหรืองานล่วงเวลา ถือว่าดีทั้งนั้น เพราะนอกจากจะทำให้เรารู้ทันการเปลี่ยนแปลงของสื่อสังคมออนไลน์แล้ว ยังเป็นตัวช่วยที่เสริมความสามารถและตัวตนของเราได้เป็นอย่างดี ต่อยอดไปทำงานอย่างอื่นหรือธุรกิจของตนเองก็ได้

หรืออย่าง Tiktok ที่ก่อนหน้านี้เป็นแพลตฟอร์มให้คนเต้นโชว์เรียกยอดคนดูในช่วงโควิด แต่ปัจจุบันกลายเป็นแพลตฟอร์มที่บรรดาครูกับติวเตอร์สอนภาษาและวิชาต่างๆ นำมาใช้เพื่อการสอนทางไกลในช่วงกักตัวและขยายฐานลูกค้าจาก Facebook หรือ Instagram ไปแล้ว ดังนั้น การรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับเวลาและสถานการณ์จะช่วยให้เราต่อยอดงานและทักษะที่หลากหลายได้มากยิ่งขึ้น

2. ทักษะแบบ Soft Skill

ทักษะดังกล่าวเป็นทักษะเชิงสังคม ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ การคิดหาวิธีแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่ ทัศนคติที่มีต่อโลกรอบตัวหรือไม่ก็การควบคุมอารมณ์ต่างก็เป็นทักษะแบบ Soft Skill ทั้งสิ้นซึ่งต่างไปจากทักษะความสามารถที่ใช้ในการทำงานตามตำแหน่ง หลายคนที่เรียนเก่ง ทำงานเก่งแต่ไม่สามารถบริหารจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวก็อาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้หากขาดทักษะดังกล่าว

แล้วทำไมพนักงานถึงต้องมีทักษะ Soft Skill ด้วยในเมื่อรู้เทคโนโลยีจนครบและใช้จนคล่องแล้ว คำตอบ คือ ก็เพราะในยุค Digital transformation มีสิ่งต่างๆ มากมายเกิดขึ้นจนอาจปรับตัวไม่ทัน แถมถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโรคระบาดและเศรษฐกิจตกต่ำเป็นช่วงๆ อีก ทำให้พนักงานต้องมีทักษะการรับมือและการมองโลกที่แตกต่างออกไปเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางความท้าทายนั่นเอง

ตัวอย่างของทักษะที่ทักได้รับการกล่าวขานเป็นลำดับต้นๆ เลย คือ การรับมือกับงานหลายอย่าง (Multi-Tasking) ถ้าสังเกตให้ดี บรรดาบริษัทหลายบริษัทเริ่มใส่ลงไปใน Job Requirement กันมากขึ้นเพราะบริษัทก็อยากได้คนที่มีทักษะการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน 

ทักษะการยืดหยุ่น (Flexibility / Resilience) ซึ่งช่วยให้พนักงานพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ผิดพลาดได้ เราก็แค่ต้องหาทางรับมือ 

ทักษะการสื่อสาร (Communication) โดยเฉพาะในยุคแห่งการทำงานจากที่บ้าน แม้การสื่อสารผ่านเครื่องมือหรือแอปพลิเคชันจะมีความสะดวกสบาย แต่ความรู้สึกย่อมต่างไปจากการเจอหน้าแล้วคุยกันแบบตัวต่อตัวอย่างแน่นอน ดังนั้น พนักงานที่มีทักษะการสื่อสารโดดเด่น สื่อใจความชัดเจนและเข้าใจความรู้สึกของคู่สนทนาย่อมได้เปรียบกว่าคนที่มีทักษะนี้น้อยกว่าอย่างแน่นอน

หรือจะเป็นทักษะเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Active Learning) ที่พนักงานต้องคอยหาความรู้ให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ก็ถือเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน เพราะไม่มีใครมาสอนหรือบอกพนักงานได้ทุกเรื่อง บางครั้งพนักงานก็ต้องหาความรู้และต่อยอดงานด้วยตัวเองเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าพนักงานจะต้องปรับตัวเพื่อองค์กรเสมอไป หากองค์กรไม่ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสโลก ต่อให้มีพนักงานที่เก่งขนาดไหน ทักษะดีเพียงใด เป้าหมายที่วางไว้ก็อาจไม่ถึงฝั่งฝันได้ แถมอาจเสียพนักงานฝีมือดีที่มีศักยภาพไปอีก นั่นหมายความว่าองค์กรต้องมีกลยุทธ์ในการจ้างคน ฝึกฝนบุคลากร ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและทำให้พนักงานรู้สึกว่างานที่ตนทำนั้นมีคุณค่าด้วย

จากบทความของ  MIT Sloan Management Review พบว่าการเสริมศักยภาพของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญเมื่อองค์กรต้องปรับใช้เทคโนโลยีแบบใหม่เข้ากับการทำงาน ซึ่งหมายความว่าพนักงานต้องมีอิสระในการคิดงาน เช่นเดียวกับการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ McKinsey ที่กล่าวว่าต้องให้พนักงานแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของตนเองเมื่อมีการนำสิ่งที่เป็นดิจิทัลมาใช้งาน

เช่นเดียวกับวัฒนธรรมองค์กรที่ผู้บริหารหลายท่านอาจยึดถือ บางครั้งจากค่านิยมและคุณค่าที่ยึดถือกลายเป็นสิ่งที่ต้องเทอดทูนบูชาจนปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยไม่ได้ อันนำมาสู่อุปสรรคในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เสียเอง สิ่งที่ผู้บริหารควรทำมากที่สุด คือ การมองว่าความผิดพลาดไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป บางครั้งการปล่อยให้พนักงานเสนอความคิดใหม่ๆ และลองลงมือทำ แม้ว่าจะผิดพลาดหรือล้มเหลว แต่ก็จะช่วยให้รู้แนวทางการไปต่อมากกว่าการยึดติดแต่สิ่งเดิมๆ และกล้านำเสนอสิ่งที่แตกต่างออกไป

บางบริษัทที่เป็น startup ด้านเทคโนโลยีบางแห่งจึงชอบจัดกิจกรรมให้พนักงานคิดนวัตกรรมใหม่ๆ มานำเสนอและชิงรางวัล กิจกรรมแบบนี้นอกจากเป็นการหาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยไม่ต้องมีต้นทุนมากมาย ยังเป็นการทำให้พนักงานรู้จักการทำงานร่วมกันอีกด้วย

สรุป ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งพนักงานและองค์กรต้องปรับตัวร่วมกัน พนักงานเองต้องหมั่นพัฒนาตัวเองเพื่อรองรับการทำงานที่หลากหลายมากขึ้นและเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทุกวินาที ในขณะที่ผู้บริหารองค์กรก็ไม่ควรยึดถือว่าองค์กรหรือความคิดของตนดีแล้ว ต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน อย่างน้อยเปิดโอกาสให้พนักงานและทุกคนเสนอความคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนางานหรือองค์กรได้ โลกดิจิทัลที่รวดเร็ว รุนแรงและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดก็น่ากลัวน้อยลง กลายเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เช่นกัน

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

flow chart แสดงขั้นตอนการปฏิบัติงาน lmyour แปลภาษา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ การเขียน flowchart โปรแกรม ตัวรับสัญญาณ wifi โน๊ตบุ๊คหาย ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน ผู้แต่งกาพย์เห่ชมไม้ ภูมิปัญญาหมายถึง มีสัญญาณ wifi แต่เชื่อมต่อไม่ได้ เชื่อมต่อแล้ว ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ /roblox promo code redeem 3 พระจอม มีที่ไหนบ้าง AKI PLUS รีวิว APC UPS APC UPS คือ Adobe Audition Adobe Bridge Anapril 5 mg Aqua City Odaiba Arcade Stick BMW F10 jerk Bahasa Thailand Benz C63 ราคา Bootstrap 4 Bootstrap 4 คือ Bootstrap 5 Brackets Brother Scanner Brother iPrint&Scan Brother utilities Burnt HD C63s AMG CSS เว้น ช่องว่าง CUPPA COFFEE สุราษฎร์ธานี Cathy Doll หาซื้อได้ที่ไหน Clock Humidity HTC-1 ColdFusion Constitutional isomer Cuppa Cottage เจ้าของ Cuppa Cottage เมนู Cuppa Cottage เวียงสระ DMC DRx จ่ายปันผลยังไง Detroit Metal City Div class คือ Drastic Vita