ทํา งาน โฮ ส เท ล

หลังจากโควิด-19 ทำให้เมืองต้องอึดอัดและเงียบกริบ ช่วงนี้กรุงเทพฯ เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยเทศกาลทั่วกรุง (โอเค ถึงโรคภัยจะยังไม่หายไปก็เถอะ) คนฟังเพลงก็ได้ไปคอนเสิร์ตของศิลปินหลากหลายที่พากันจัดเหมือนอัดอั้นมานาน นักอ่านก็ได้ไปละลายทรัพย์ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 กันถ้วนทั่ว และล่าสุด คนชอบงานศิลปะก็ไม่น้อยหน้า เพราะ ‘Bangkok Art Biennale 2022’ กิจกรรมศิลปะระดับนานาชาติก็กลับมาแล้วเช่นกัน

เสน่ห์ของเบียนนาเล่คือทุกคนจะได้เดินทาง ขึ้นรถ ลงเรือ ไปเสพงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทย-เทศที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ ภายในมิวเซียม ในหอศิลป์ ในห้าง หรือแม้แต่วัด พื้นที่ที่ดูเต็มไปด้วยจารีตประเพณี โดยงานทั้งหมดอยู่ภายใต้ธีมเดียวกัน

แก่นความคิดหลักของงานปีนี้ คือ ‘โกลาหล : สงบสุข’ (CHAOS : CALM)

จากที่พวกเราทุกคนได้ผ่านความโกลาหล ความโศกเศร้า และน่ากังวลใจมากมายใน พ.ศ. 2565 ทั้งโรคระบาดที่พูดถึงไปตอนแรก หรือความขัดแย้งทางการเมือง ข่าวสงคราม ความอดอยากแร้นแค้นของเพื่อนมนุษย์ ศิลปิน BAB ก็แสดงให้เห็นความหวังที่โลกจะไปสู่สภาวะสงบสุขผ่านงานศิลปะ

Take Me Out ครั้งนี้ ขออาสาพาทุกคนไปดูงานของศิลปินที่น่าสนใจ (ในทรรศนะของผู้เขียน) กับคณะทัวร์ของ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในเส้นทางสนุก ๆ อย่าง วัดโพธิ์ – มิวเซียมสยาม – หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สักหน่อย เผื่อว่าจะเป็นไอเดียสำหรับเที่ยวในสุดสัปดาห์นี้

วัดโพธิ์

01 มณเฑียร บุญมา

เราเริ่มการเดินชมเบียนนาเล่ปีนี้ที่เก๋งจีนในวัดโพธิ์

“นี่คืองานของศิลปินที่จากไปแล้ว” ดร.อภินันท์ เอ่ยขึ้นระหว่างที่ทุกคนกำลังเพ่งมองงานประติมากรรมหน้าตาแปลกที่ตั้งอยู่กลางเก๋งจีน เนื่องจากศิลปินไม่อยู่ ทายาทของมณเฑียรจึงเป็นรับบทเป็นผู้ดำเนินการแทน

มณเฑียร บุญมา ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยของเอเชีย เขาเป็นผู้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก โจเซฟ บอยส์ มีผลงานจัดแสดงในงานศิลปะระดับนานาชาติมากมาย อาทิ ซิดนีย์ เบียนนาเล่ ครั้งที่ 8, อิสตันบูล เบียนนาเล่ ครั้งที่ 4 รวมถึงงานเอเชีย-แปซิฟิก เบียนนาเล่ครั้งแรก

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของเขาคือการจากไปของภรรยาด้วยโรคมะเร็งทรวงอก ทำให้การทำงานของเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาเยียวยาในสถานที่สงบและสร้างสติ มณเฑียรเคยพูดไว้บ่อยครั้งว่า อยากจัดงานแสดงศิลปะจัดวางในวัด

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 นำผลงานของมณเฑียรมาจัดวางในวัดโพธิ์ถึง 2 ชิ้นตามความตั้งใจของศิลปิน งานชิ้นแรกที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า คือ ‘อโรคยศาลา’ งานจาก พ.ศ. 2537 แต่เพิ่งได้จัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก งานนี้มีลักษณะเป็นกล่องโลหะรูปทรงปอดที่มีสมุนไพรอัดแน่นอยู่ อ้างอิงถึงวิหารขอมที่เป็นสถานที่สวดมนต์และบำบัดเยียวยา

ถัดมาที่วิหารวัดป่าเรไร เราได้เจอกับอีกงานของมณเฑียร คราวนี้คืองานจัดวางเศียรพระพุทธรูปอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘Melting Void : Molds for the Mind’ (พ.ศ. 2542) หนึ่งในงานสร้างสรรค์ช่วงสุดท้ายในชีวิตศิลปิน

มณเฑียรเขียนไว้ในงานนี้ว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาให้ที่ว่างภายในองค์พระปฏิมาเป็นที่พำนักแห่งจิตใจ สติของผู้คนที่ปรารถนาให้สภาวะของจิตนั้นเข้าสู่มิติของความสงบผ่อนคลาย”

เศียรอะลูมิเนียมวางอยู่ใกล้พระพุทธรูปองค์จริงประจำวิหาร เหมาะเจาะราวกับถูกสร้างมาเพื่อสเปซแห่งนี้เป็นพิเศษ แม้เศียรจะดูยุ่งเหยิง ผู้คนที่มาดูงานก็เดินขวักไขว่ ทว่าวิหารพื้นเย็นเยียบกลับทำให้เรารู้สึกสุขสงบ

“เราเข้าไปในเศียรได้ด้วยนะ” ดร.อภินันท์ แนะนำ สิ้นเสียงของเขา เราจึงมุดเข้าไป มองเห็น ‘รู’ เล็ก ๆ ที่บรรจงเจาะไว้เป็นกลุ่มดาว และได้กลิ่นหอมอ่อน ๆ จากสมุนไพรที่เคลือบไว้ด้านในเศียร

สถานที่จัดแสดง

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

02 แอนโทนี กอร์มลีย์ (Antony Gromley)

ถัดจากงานของศิลปินผู้ล่วงลับ เราเดินต่อมาถึงงานของศิลปินต่างชาติท่านหนึ่ง

แอนโทนี กอร์มลีย์ เป็นศิลปินผู้ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางกับผลงานประติมากรรมศิลปะจัดวาง และศิลปะในพื้นที่สาธารณะซึ่งสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายมนุษย์กับพื้นที่ ผลงานเขามักตั้งคำถามถึงร่างกายของมนุษย์และแห่งหนของมันกับธรรมชาติ

เบียนนาเล่คราวนี้ เขานำเสนองานประติมากรรมจัดวางในวัดโพธิ์ 2 ชิ้น ชิ้นแรกคือ ‘Connect’ (พ.ศ. 2565) แสดงร่างกายที่เป็นเขตความเชื่อมโยงของที่ว่างและแสงสว่าง เมื่อเดินไปอีกฝั่งของระเบียง จะพบกับงาน ‘Contain’ (พ.ศ. 2565) แสดงร่างกายที่เป็นบริบททางวัตถุของการสำนึกรู้

‘Connect’

‘Connect’

ทั้ง 2 งานแสดงพื้นที่ของประสบการณ์มนุษย์และความสัมพันธ์ที่เรามีต่อที่ว่าง มวลพลังงานอนิจจังถูกแผ่ออกมาในบริเวณวัดจีน-สยามแห่งนี้ ซึ่งมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ อยู่หลายแถว

เพื่อให้ศิลปะทำงานกับพื้นที่ได้ดีอย่างที่ตั้งใจ งานที่เราเห็นจึงเป็นงานที่แอนโทนีสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อวัดนี้และบริเวณนี้โดยเฉพาะ หากใครอยากมาสัมผัสประสบการณ์ ลองหาเวลามายลด้วยตาตัวเอง ร่างกายมนุษย์ทึบ-โปร่งของแอนโทนีอยู่รอคุณถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

มาวันที่คนเยอะก็ได้ประสบการณ์แบบหนึ่ง มาวันคนเบาบางก็ได้ประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง เราว่าแอนโทนีคงอยากให้งานชิ้นนี้ทำงานได้ทั้ง 2 แบบ

‘Contain’

‘Contain’

สถานที่จัดแสดง

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

มิวเซียมสยาม

03 ทาซีน ไกยัม (Tazeen Qayyum)

จากวัดโพธิ์ เราขึ้นรถมาดูงานศิลป์กันต่อที่มิวเซียมสยาม คราวนี้ศิลปินผู้สร้างงานให้เกียรติมายืนเล่าด้วยตัวเอง

ผู้หญิงผมสั้นตรงหน้า คือ ทาซีน ไกยัม ศิลปินชาวปากีสถาน-แคนาดา ที่สนใจการใช้รูปแบบการทำซ้ำ จังหวะ และความสมดุลของเรขาคณิต มาสร้างให้เห็นเป็นโมทีฟในงานของเธอ

สำหรับงานนี้ แมลงสาบถูกนำมาใช้เป็นโมทีฟ รูปแบบที่เกิดซ้ำ ๆ ในศิลปะจัดวางชิ้นพิเศษนี้ชื่อว่า ‘Patterns of Resilience’ เพื่อวิพากษ์สังคมถึงการไม่สามารถอดทนต่อความเห็นต่างทางการเมือง 

“อย่างที่คุณเห็น ฉันใช้แมลงสาบตายในงานเยอะแยะเลย มันแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ฉันเห็นเกี่ยวกับตัวเองในช่วงสงคราม ฉันกำลังครุ่นคิดถึงคุณค่าของชีวิต” ทาซีนเล่า การที่เธอเป็นชาวปากีสถานซึ่งอยู่ในแคนาดา ทำให้งานแฝงไปด้วยประเด็นความรู้สึกของคนต่างเชื้อชาติในสังคมด้วย

แมลงสาบสีแดงได้คลานไปรอบมิวเซียมสยาม และปรากฏบนผนังนอกอาคารสไตล์นีโอคลาสสิก แสดงถึงสถานที่แห่งการต่อสู้และฝ่าฟันเพื่อกลับสู่สภาพเดิม

สถานที่จัดแสดง

มิวเซียมสยาม

ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

04 ทัตสึโอะ มิยาจิมะ (Tatsuo Miyajima)

แล้วแมลงสาบสีแดงบนพื้น ก็นำเรามาสู่ห้องจัดแสดงงานอีกห้องของมิวเซียมสยาม

เปลี่ยนแปลงเสมอ เชื่อมโยงทุกอย่าง และดำเนินไปตลอดกาล คือ 3 แกนหลักในการสร้างงานศิลปะของ ทัตสึโอะ มิยาจิมะ ครั้งนี้เขามาพร้อมกับเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นคือตัวเลข LED เปล่งแสง

‘Wall of Change’ เป็นงานที่ตัวเลข 5 ตัวปรากฏบนผนัง และจะเปลี่ยนไปทุกวันตามตัวเลข 0 – 9 ที่ออกโดยลูกเต๋า 10 หน้า ภูมิทัศน์โลกภายนอกมองเห็นผ่านรูช่องเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตัวเลขในแต่ละวัน ก่อเป็น ‘ภูมิทัศน์ของตัวเลข’ ที่เกิดขึ้นโดยเหตุบังเอิญจากการเปลี่ยนไปของตัวเลขอย่างไร้รูปแบบ

ตัวเลขเหล่านี้เปรียบเสมือนเวลา ซึ่งในที่นี้ ศิลปินเทียบมันกับชีวิต ดังนั้น เมื่อเกิดเลข 0 ภูมิทัศน์ภายนอกไม่สามารถมองลอดไปได้ เหลือเพียงกำแพงปิดทึบ และนั่นก็คือความตาย

“โดยทั่วไปงานของคุณทัตสึโอะจะไม่มีเลข 0 ที่ความหมายเป็นลบ แต่เมื่อโลกเกิดวิกฤตหลายอย่าง ทำให้เขาครุ่นคิดถึงความตายมากขึ้น เลยตัดสินใจใช้เลข 0 เป็นครั้งแรก” คิวเรเตอร์สาวผู้ประจำอยู่ที่มิวเซียมสยามกล่าว งานจัดแสดงชิ้นนี้เปรียบเสมือนการจำลองวัฏจักรของชีวิต ชวนตั้งคำถามถึงความเป็นไป การมีชีวิตอยู่ และความตายของทุกสรรพสิ่ง

เรายืนมองงานของศิลปินท่านนี้อย่างพินิจพิเคราะห์ นอกจากภูมิทัศน์ที่เกิดขึ้นแล้ว ตัวเลขที่บังเอิญเกิดขึ้นในแต่ละวัน ยังทำให้ ‘ชิ้นส่วน’ ที่ใช้ปิดเปิดช่องว่างที่วางอยู่หน้าตัวเลข มีจำนวนเปลี่ยนไปทุกวันตามไปอย่างน่าสนใจ

“ปกติพนักงานจะเป็นคนทอยลูกเต๋า แต่ช่วงนี้คุณทัตสึโอะอยู่ เขาก็จะเป็นคนทอยเองทุกวันเลย” เธอเล่าเพิ่มเติม ฟังแล้วอยากอาสาทอยให้สักวัน ดูซิว่าจะออกมาเป็นเลขอะไร

สถานที่จัดแสดง

มิวเซียมสยาม

ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

หอศิลป์

05 ART for AIR

เมื่อจบจากมิวเซียมสยาม ก็ได้เวลาเดินทางไกลมาถึงหอศิลป์ กรุงเทพมหานคร อีกที่ที่รวบรวมผลงานศิลปินมากหน้าหลายตาในงานเบียนนาเล่ครั้งนี้

เราเริ่มกันที่ห้องจัดแสดงห้องหนึ่งที่มีงานศิลปะกระจายตัวอยู่เต็มห้อง และทั้งหมดมีธีมร่วมกันเป็นเรื่อง ‘มลภาวะ’ ประเด็นแห่งยุคสมัยที่ใครก็ต้องเผชิญ

พ.ศ. 2562 สภาลมหายใจประชุมร่วมกับศิลปินแขนงต่าง ๆ ในเชียงใหม่ เพื่อแบ่งปันถึงปัญหาฝุ่นควันที่ชาวเชียงใหม่ต้องเผชิญ และการคลี่คลายสถานการณ์ด้วยศักยภาพที่ศิลปินจะทำได้ จึงเกิดเป็นโครงการ ART for AIR หรือ ‘โครงการศิลปะเพื่อลมหายใจ’

ปัจจุบัน ART for AIR จึงเสมือนการแสดงพลังของภาคประชาชน เครือข่ายศิลปินจากเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่ขยับขยายไปมากกว่าเรื่องฝุ่นควัน แต่รวมถึงผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก โดยนำเสนอผ่านศิลปะร่วมสมัย

ART for AIRเชื่อว่าศิลปะไม่ใช่ความงามแค่เพียงการมองเห็น แต่คือความงามในการสร้างการตระหนักรู้ ในวิถีของการค้นคว้าถึงสาเหตุของปัญหานั้นด้วยศิลปะ ดั่งจะเห็นจากนิทรรศการนี้ที่นำเสนอแนวคิดของการที่เมืองเข้ามาซ้อนทับพื้นที่ป่า และก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมืองเชิงวัฒนธรรม อุตสาหกรรม และปัญหาสิ่งแวดล้อม

ท่ามกลางงานหลายชิ้นในห้องจัดแสดง ชิ้นที่ดึงดูดให้เรายืนดูอยู่หลายนาที ไม่ละสายตาไปสักที คือ 3 จอที่ปรากฏภาพเคลื่อนไหวของผู้หญิงที่กำลังทำงานบ้าน จัดการกับฝุ่นในบ้านด้วยกริยาท่าทางไม่ปกติ

ไม่มีป้ายอะไรใด ๆ แปะอยู่ ไม่รู้แน่ชัดว่าแปลว่าอะไร แต่โชคดีที่เราเจอศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน เราจึงได้คำอธิบายของงานชิ้นนี้สมใจ

“มลภาวะตีความได้หลายแบบ จะพูดถึงเรื่องมลภาวะของอากาศก็ได้ หรือมลภาวะของการกดขี่ก็ได้เหมือนกัน นี่เป็นงานที่ทำช่วงโควิด เลยพูดถึงการอยู่บ้าน ซึ่งบ้านควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่บางครั้งอาจจะเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรง มี ‘Domestic Violence’ ที่เกิดกับผู้หญิงได้เหมือนกัน” กวิตา วัฒนะชยังกูร อธิบาย “หรือมองอีกมุมก็คือ การที่เราอยู่ในบ้าน เราคิดว่าเราปลอดภัยจาก PM 2.5 แล้ว แต่จริง ๆ อะไร ๆ เกิดขึ้นได้เหมือนกัน”

  นี่คือผลงานที่เรียกว่า ‘Air Series’ โดยแต่ละงานมีชื่อว่า ‘My Mother and I’, ‘Vacuum’ และ ‘Vacuum 2’ ตามลำดับ

สถานที่จัดแสดง

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 9

ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

06 พิชชาภา หวังประเสริฐกุล

 “นี่คือศิลปินหญิงที่ยังอายุน้อยมาก ตอนเธอเข้ามาสัมผัสกับบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เมื่อปี 2018 เธอทำหน้าที่เป็น Dek BAB (เด็ก BAB) จะเห็นได้ว่าเธอไต่เต้าจากอาสาสมัครมาเป็นศิลปิน BAB ไปแล้ว” ดร.อภินันท์ พูดพลางกวักมือเรียกศิลปินอย่างคุ้นเคย

“ปรบมือให้น้ำอุ่นหน่อยครับ”

น้ำอุ่น หรือ พิชชาภา หวังประเสริฐกุล เริ่มรู้จักศิลปะการแสดงสด (Performance Art) ในวัย 19 ปี ภายหลังจากได้รับเลือกเป็นหนึ่งในทีมงานของงาน ‘Marina Abramović’ งานของเธอมักตั้งคำถามกับพลวัตของอำนาจ เชื้อเชิญให้ผู้ชมเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง และลดอำนาจของศิลปินลง อีกทั้งยังพาผู้ชมไปถึงจุดที่ต้องตัดสินใจโต้ตอบกับผลงาน

ผลงานครั้งนี้ พิชชาภาชวนมองไปยังทะเลสาบข้อมูลในโลกออนไลน์และสังคมภายนอก ที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อทำให้เราเชื่อว่ามาตรฐานที่สังคมตั้งไว้นั้นปกติ ยกตัวอย่างเช่น แต่ไหนแต่ไรเวลานอนเฉลี่ยที่เหมาะควรคือ 8 – 10 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันเริ่มมีการสร้างมาตรฐานใหม่ว่า หากคุณนอนเต็มอิ่มจริง ๆ เพียงแค่ 4 ชั่วโมงนั้นก็เพียงพอ หรือขนาดห้องนอนชุดหนึ่งเคยมีมาตรฐานอยู่ที่ 65 ตารางเมตร แต่ลดลงเหลือแค่ 28 ตารางเมตร เพียงระยะเวลาแค่ 8 ปี

แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนหรือเปลี่ยนน้อยมากคือ ตัวเลขค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 31 บาท นับตั้งแต่ พ.ศ. 2555 นี่คือตัวอย่างจากการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะกรุงเทพฯ รวมถึงสภาพการณ์และความเป็นอยู่ที่บีบบังคับเราให้ต้องอยู่ให้ได้ เพื่อรักษาสถานะการอยู่รอดของตัวเองไปวัน ๆ นั่นจึงนำมาสู่การจำลองห้องขนาดกะทัดรัดในผลงานที่ชื่อ ‘The Standard’ (พ.ศ. 2565) ที่เราได้เห็นกัน

“เขาพยายามบอกเราว่า เชื่อสิ ฉันคิดมาแล้วว่าเท่านี้มันโอเค เท่านี้มันอยู่ได้” น้ำอุ่นพูดถึงสังคมและเหล่าผู้มีอำนาจ

“น้ำอุ่นจะทดลองอยู่ในกล่องนี้เป็นเวลา 1 เดือนด้วยกัน วันอังคารถึงวันศุกร์ ในกล่องนี้มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตเรียบร้อย มีน้ำ มีอาหาร มีไวไฟ น้ำอุ่นจะทำงาน เข้าประชุม และใช้ชีวิตอยู่ในนี้จริง ๆ จนหอศิลป์ปิดค่ะ”

ว่ากันตามตรง แม้จะเป็นงานชิ้นเล็ก ๆ แต่ด้วยความใกล้ตัว เข้าถึงง่าย นี่เป็นงานที่เราชอบที่สุดใน BAB ปีนี้เลย

สถานที่จัดแสดง

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 9

ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

07 อริญชย์ รุ่งแจ้ง

เดินต่อมาที่ห้องจัดแสดงอีกห้อง

นี่คืองานของหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะแนวจัดวางในประเทศไทย อริญชย์ รุ่งแจ้ง เขามักศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่ รวมไปถึงสัญลักษณ์ เศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง ที่สิ่งเหล่านี้กระทำและแทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของแต่ละคน

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ หนนี้ อริญชย์ รุ่งแจ้ง นำเสนองานศิลปะจัดวางที่ประกอบไปด้วยประติมากรรมรูปแถบโมเบียส (Möbius strip) และวิดีโอชุด ‘When the fish is chirping’ (เมื่อปลากำลังส่งเสียงจิ๊บ ๆ) พ.ศ. 2565 เพื่อศึกษาการจัดการความโกลาหลของมนุษย์

“คุณอริญชย์มักทำงานเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่มีการพูดถึงและไม่เคยพูดถึงมาก่อน” คิวเรเตอร์คนหนึ่งเล่า “โปรเจกต์นี้เขาเน้นไปยังประเด็นที่คนเจเนอเรชันใหม่ ๆ พยายามพูด อย่างเรื่องสังคมหรือเศรษฐกิจ”

งานนี้เริ่มจากการเปิดคลิปวิดีโอสัมภาษณ์เด็กรุ่นใหม่ทั้งหมด 6 คน เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานที่เด็กคนหนึ่งควรได้รับการสนับสนุนในการเติบโตขึ้นมา เมื่อวิดีโอจบลง ไฟที่ประติมากรรมรูปแถบโมเบียสก็จะติดขึ้น

“สำหรับแถบโมเบียส เราเดินจากด้านหนึ่งแล้วตามมันไปเรื่อย ๆ มันจะวนไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หมายถึงวังวนบางอย่างที่เมื่อเข้าไปแล้วก็ไม่สามารถหาทางออก ซึ่งบนแถบโมเบียสมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดอยู่ เป็นตัวแทนของระบบทุนนิยม และสื่อถึงเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มนุษย์ไม่เคยคิดจะพูดถึงด้วย

“สภาพแวดล้อมที่ให้คนคนหนึ่งเติบโตมาได้ จะต้องดีทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม”

เราคิดว่างานศิลปะที่มีทั้ง ‘ข้อมูล’ อย่างคลิปวิดีโอ และ ‘การตีความ’ อย่างประติมากรรมนั้นน่าสนใจ เพราะทั้งสองอย่างจะทำงานกับผู้ชมไปพร้อม ๆ กัน

สถานที่จัดแสดง

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 8

ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

08 Uninspired by Current Events

จริงไหม? ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในสังคม เรามักจะเห็นภาพซีจีจากเพจ ‘Uninspired by Current Events’ กระทำการ ‘แซะ’ อย่างทันท่วงทีเสมอ

เขา คนที่คุณ (ก็คง) เคยเห็น เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์งานในแนวทางเหนือจริงด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิก เสมือนภาพล้อเลียนตามหน้าหนังสือพิมพ์ ความเหนือจริงถูกฉาบทับภาพที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์ ห่อหุ้มความซับซ้อนที่มีอยู่ร่วมกันภายในสังคม โดยเฉพาะตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2563 ที่มีหลายสิ่งเกิดขึ้นอย่างถาโถม

ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงภาพนิ่งที่จะแชร์กันตามโซเชียลมีเดีย แต่เขาได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในทางที่แปลกใหม่ไปจากเดิม ทั้งงานในสถานที่จริงและงานในโลกเสมือนอย่างวีดิทัศน์-วิดีโอเกม โดยเฉพาะในวิดีโอเกมที่จะมีภาพอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งนำเสนอในรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน ที่พร้อมขยับขยายความเป็นไปได้ในการมองสัญลักษณ์ทางอำนาจเหล่านั้น

เชื่อว่างานของเขาจะช่วยเปิดมุมมองให้ผู้คนได้อีกเยอะ

สถานที่จัดแสดง

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 8, BAB Cafe, The PARQ และ BAB Virtual Venue

ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

09 กวิตา วัฒนะชยังกูร

หลังจากได้เห็นงานชิ้นเล็กของกวิตาเรียกน้ำย่อยไปใน ART for AIR แล้ว เราก็เดินมาเจอกับงานของเธออีกครั้งที่ชั้น 8 ของหอศิลป์

กวิตา วัฒนะชยังกูร เป็นศิลปินผู้สำรวจความไหลลื่นระหว่างแรงงานและจักรกล นำเสนอร่างกายของมนุษย์ในท่าที่ลำบากแสนเข็ญ กับจักรกลที่ทำงานสอดและค้านกันในเวลาเดียวกัน มุ่งเน้นให้เห็นถึงภูมิหลังที่ซ่อนเร้นภายใต้การใช้แรงงานสมัยใหม่และโลกของทุนนิยม

งานนี้เรียกว่า ‘Voice of the Oppressed’ (พ.ศ. 2565) ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรม The Pedagogy of the Oppressed ของ เพาโล เฟรเร่ (Paulo Freire) ซึ่งเสนอว่าความอยุติธรรมในสังคมเราได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ และนำไปสู่การทำให้มนุษย์กลายเป็นวัตถุ โดยงานชิ้นนี้เธอร่วมมือกับ พัทน์ ภัทรนุธาพร จากมีเดียแล็บของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT Media Lab)

คนใน 2 จอ ซ้ายขวาที่เราเห็น ดูเหมือนกวิตาแต่ไม่ใช่กวิตาจริง ๆ นั่นคือปัญญาประดิษฐ์ที่พัทน์พัฒนาขึ้นมาจากหน้าและเสียงของศิลปิน ชื่อว่า ‘Kawitash2’ กับ ‘Kawitash2’ โดยตัวแรกคือตัวควบคุมโครงสร้าง และตัวที่ 2 คือตัวทำลายวัฏจักรเพื่อปลดแอก 

“ตัวแรกเขาพูดว่า ความกดขี่สำคัญกับสังคมยังไง พอฟังแล้ว เขาก็โน้มน้าวใจเราเหมือนกันนะ น่ากลัวมาก ส่วนอีกตัวจะพูดว่า ทำยังไงเราถึงจะไปสู่อิสรภาพได้ เราก็ปล่อยให้เขาคุยกันเองสองคนเป็นเวลา 45 นาที” กวิตาเล่า

Voices of the Oppressed ยังประกอบไปด้วยงานแสดงสด งานวีดิทัศน์และประติมากรรมจัดวาง ที่น่าสนใจคืองานวีดิทัศน์แสดงร่างกายของกวิตาเป็นเหมือนเครื่องจักรผลิตดินปืน ซึ่งควบคุมโดย Kawitash2 ขณะเดียวกันศิลปินก็แสดงเป็นคนขจัดดินปืน ล้างเขม่า เปรียบเสมือนการทำงานของ Kawitash2 ที่ต้องการรื้อฟื้นความเป็นมนุษย์กลับมา

กวิตายังมีงานแสดงที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชื่อ ‘VOIDSCAPE’ (พ.ศ. 2565) สำรวจการแข่งขันของมนุษย์ในยุคทุนนิยม กับข้อสังเกตข้างต้นถึงการลดทอนความเป็นมนุษย์ ผลงานนี้เป็นในรูปแบบอินเทอร์แอคทีฟ พาผู้ชมเข้าไปในโลกที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ตั้งคำถามถึงอนาคตการใช้แรงงาน และสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากทุนนิยม

สถานที่จัดแสดง

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 8, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และ BAB Virtual Venue

ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ภาพ : มณีนุช บุญเรือง, ปริยากร รักษาก้านตง และ นิติกาญจน์ สมบูรณ์ทรัพย์

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

flow chart แสดงขั้นตอนการปฏิบัติงาน lmyour แปลภาษา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ การเขียน flowchart โปรแกรม ตัวรับสัญญาณ wifi โน๊ตบุ๊คหาย ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน ผู้แต่งกาพย์เห่ชมไม้ ภูมิปัญญาหมายถึง มีสัญญาณ wifi แต่เชื่อมต่อไม่ได้ เชื่อมต่อแล้ว ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ /roblox promo code redeem 3 พระจอม มีที่ไหนบ้าง AKI PLUS รีวิว APC UPS APC UPS คือ Adobe Audition Adobe Bridge Anapril 5 mg Aqua City Odaiba Arcade Stick BMW F10 jerk Bahasa Thailand Benz C63 ราคา Bootstrap 4 Bootstrap 4 คือ Bootstrap 5 Brackets Brother Scanner Brother iPrint&Scan Brother utilities Burnt HD C63s AMG CSS เว้น ช่องว่าง CUPPA COFFEE สุราษฎร์ธานี Cathy Doll หาซื้อได้ที่ไหน Clock Humidity HTC-1 ColdFusion Constitutional isomer Cuppa Cottage เจ้าของ Cuppa Cottage เมนู Cuppa Cottage เวียงสระ DMC DRx จ่ายปันผลยังไง Detroit Metal City Div class คือ Drastic Vita