ทํา ไม่ ถึงอยากเรียนกฎหมาย

ต้นเดือนเมษายนฝนหลงฤดูกระหน่ำซัด ขณะความเคลื่อนไหวทางการเมืองยังคงปรากฏ แต่แกนนำคนแล้วคนเล่ากลับถูกจับจองจำทั้งที่ยังไร้คำพิพากษา และไม่มีแม้สิทธิ์ประกันตัวอย่างที่ควรได้รับ ปริศนาจึงผุดตามมาว่ากระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ยังน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนกัน ขณะวิสัชนาที่ได้ฟังจากปากนักศึกษากฎหมายสองคนกลับเต็มไปด้วยความผิดหวัง ทั้งสองเห็นพ้องต้องกันว่าไม่อยากจบจากรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อไปเป็นความอยุติธรรม…เหมือนที่บางนักกฎหมายทำให้เห็นทนโท่อยู่ในเวลานี้

“พูดกันตามตรงคือผิดหวัง เพราะการเรียนกฎหมายเป็นวิชาชีพที่เรียนเพื่อนำไปใช้ แต่พอหลายอย่างที่เรียนมันนำไปใช้จริงไม่ได้ก็รู้สึกหดหู่น่ะ คำถามคือแล้วเราทำอะไรได้บ้าง หรือไม่ต้องสนใจอะไรแค่ก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือท่องมาตราไป สำหรับผม ผมว่าการเรียนกฎหมายส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของความรู้สึก อย่างแรกคือใจของคนที่เรียนต้องยุติธรรมและเป็นธรรมก่อน และก็มองโลก มองสังคมแบบปราศจากอคติ”

“คำถามมากมายที่เราสัมผัสได้ว่ามันสร้างความคลางแคลงใจให้ประชาชน และแม้แต่เมย์เองที่เป็นนักศึกษากฎหมายก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งมันก็ incredible จริง ๆ แต่ที่รู้สึกผิดหวังที่สุดก็เวลาได้ยินเสียงเพรียกหาหลักความยุติธรรมจากนักกฎหมาย ทั้งที่มันต้องมีคู่กันกับนักกฎหมายอยู่แล้ว การที่มีคนบอกเราว่าขอให้เป็นนักกฎหมายที่ยึดมั่นในหลักการกฎหมายและความยุติธรรม การที่เขาร้องบอกเราอย่างนี้เราว่ามันจุกนะ”

คือความในใจของ มอส-วิริยะ ก้องศิริวงศ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เมย์-ทับไทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สองนักศึกษากฎหมายที่ De/code ชวนมาพูดคุยถึงกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างเปิดอกเปิดใจ ทั้งสองเป็นความหวัง ที่กำลังรู้สึกผิดหวัง แต่ไม่ได้สิ้นหวังไปเสียทีเดียว

  • มอส-วิริยะ
  • เมย์-ทับไทร

สิ่งที่เรียนกับความจริงที่เจอแตกต่างกันแค่ไหน

เป็นเรื่องปกติที่บทเรียนในห้องกับความจริงที่เจออาจต่างกันไปบ้าง เพราะในเชิงปฏิบัติมีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ไม่อาจนำทฤษฎีมาใช้ได้ทั้งหมด กระนั้นดูเหมือนว่าความจริงของสังคมไทยที่มอสเผชิญกลับสวนทางกันลิบลับกับหลักการที่เขาเรียน เขาบอกว่าก่อนเข้าธรรมศาสตร์ตนเองวาดภาพแค่ว่าคงได้เรียนกฎหมายกับอาจารย์เก่ง ๆ และอ่านหนังสือไปตามประสาเด็กที่ชอบอ่าน แต่เมื่อเข้ามาปีหนึ่งซึ่งเป็นช่วงที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังคุกรุ่น จึงมีประเด็นร่วมสมัยทางกฎหมายให้เขานำมาวิเคราะห์และถกเถียงกับเพื่อนบ่อยครั้ง ตั้งแต่ประเด็นการเลือกตั้งที่สังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใส คดียุบพรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงคดีม็อบที่ยังเป็นอะไรที่ท้าทายการเรียนกฎหมายอยู่ขณะนี้ ซึ่งนั่นช่วยให้เขาเห็นความจริงที่น่าผิดหวังเกินกว่าหัวใจที่เชื่อมั่นในความยุติธรรมอย่างหนักแน่นจะรับได้ มอสปล่อยประโยคสะเทือนใจจากความรู้สึกออกมาว่า

“เรื่องที่เรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมค่อนข้างไปกันคนละทิศคนละทาง เช่นเราเรียนในคาบกฎหมายมหาชนมาว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติประเทศไทยกลับมีข้อเท็จจริงที่ต่างไป ยิ่งล่าสุดที่มีการดำเนินคดีอาญากับผู้ชุมนุม และหลายคดีพอเป็นคดีการเมืองก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา”

ด้านเด็กสาวที่ตัดสินใจเรียนกฎหมายเพราะฝันอยากเป็นผู้พิพากษาตั้งแต่มัธยมสี่อย่างเมย์ ตอบคำถามเดียวกันว่า “ก่อนเข้าเรียนก็คิดว่าคงเน้นท่องจำตัวบทแต่พอมาเรียนแล้วคือเราต้องทำความเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายไปด้วย ขณะเดียวกันก็เคยคิดนะว่าการเรียนกฎหมายน่าจะเป็นพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงกัน แต่เอาเข้าจริง ๆ กลับพบว่ามันไม่ได้เป็นเหมือนที่คิด วิชาที่เรียนหลายคนอาจถกเถียงกันลำบากหน่อย แต่วิชาเลือกหลาย ๆ วิชาที่คนร่วมห้องไม่เยอะมากก็แทบไม่ได้ไปไกลกว่าการบรรยายให้ฟัง ส่วนตัวเลยอยากให้การเรียนกฎหมายในไทยมีการสัมมนาแบบจริง ๆ จัง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงชื่อวิชา เพราะการถกเถียงจะช่วยให้เด็กนิติได้เห็นประเด็นทางสังคมอื่น ๆ ร่วมด้วย”

เมย์ยังพูดถึงมาตรา 112 ด้วยว่าในห้องเรียนของเธอมาตรานี้ถูกหยิบมาพูดถึงน้อย อย่างมากก็พูดแค่ตัวบทเช่นให้ไปดูนิยาม ขณะที่ในหมู่เพื่อนที่เรียนกฎหมายด้วยกันมีพูดถึงอยู่บ้าง อย่างบางคดีที่ถูกตั้งข้อหามาตราดังกล่าว แต่ยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดด้วยซ้ำแบบนี้เธอก็ถกกันกับเพื่อนถึงความไม่ชอบมาพากล ด้านมอสเล่าว่าประเด็นกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐมักถูกพูดคุยไม่เปิดเผยมาก หรืออาจไม่ได้สอนอย่างเจาะลึกในระดับปริญญาตรี เพราะมีความอ่อนไหวค่อนข้างสูง

น่าตั้งคำถามต่อไปว่าห้องเรียนกฎหมายในไทยทุกวันนี้มีเสรีภาพทางวิชาการหลงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน ถ้าหากอาจารย์กฎหมายไม่อาจพูดความจริงที่อยากพูด และนักศึกษากฎหมายไม่ได้ยินความจริงที่ควรได้ยิน เช่นนี้ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตไปเป็นความยุติธรรม…เพราะความเข้าอกเข้าใจสังคมไม่ควรเป็นสิ่งที่หล่นหายไปจากสำนึกของนักกฎหมาย…มิใช่หรือ?

คลุมครือ สงสัย ให้คำตอบไม่ได้ = กระบวนการยุติธรรมไทย

ต่อความจริงอันน่าผิดหวัง มอสอธิบายด้วยสามคำที่ชวนให้เห็นภาพชัดขึ้น หนึ่งคือ “คลุมเครือ” เขาขยายความว่า “องค์กรตุลาการเป็นองค์กรปิดคือตรวจสอบกันเอง ตามหลักแบ่งแยกอำนาจ คำถามที่น่าสนใจคือข้อเท็จจริงขององค์กรนั้นใครตรวจสอบ อย่างศาลรัฐธรรมนูญที่ตอนนี้มีบทบาทนำอย่างมากในการชี้ขาดประเด็นสำคัญ ๆ ทางการเมือง แต่กลับไม่มีใครที่จะมาตรวจสอบและชี้ขาดศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงเป็นเรื่องคลุมเครือถึงความโปร่งใสและยุติธรรม”

ต่อมาคือ “สงสัย” สำหรับคำนี้เขาบอกว่า “สังคมไทยตอนนี้มีปรากฏการณ์พันลึกเกิดขึ้นมากมาย เช่นคดียุบพรรคการเมืองไม่ว่าจะไทยรักษาชาติหรืออนาคตใหม่ สิ่งที่น่าสงสัยคือทำไมผลจึงไปในทิศทางนั้น องค์คณะของผู้ที่ตัดสินเป็นใครหรือยึดโยงอยู่กับใคร เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ประชาชนสงสัยและต้องการคำตอบ”

ปิดท้ายด้วยคำว่า “ให้คำตอบไม่ได้” เขาขยายเพิ่มว่า “ตรงนี้เกี่ยวข้องกับอำนาจของศาล ตามหลักความเป็นที่สุดของคำพิพากษา คือเมื่อคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุด แต่กระบวนการทำงานขององค์กรยังคลุมเครือผลบั้นปลายก็เลยมีความสงสัย พอมีคนตั้งคำถามว่าทำไมผลเป็นเช่นนี้ ก็ให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ หรือให้คำตอบที่ชัดเจนมาก็ไม่เป็นตามหลักการและหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น บ้างก็อ้างว่าไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนแปลงหรือยืนยันอย่างขันแข็งว่าถูกต้องแล้ว ทั้งที่คนเรียนกฎหมายหรือแม้แต่คนทั่วไปก็มองออกว่าผลที่ออกมาไม่ปกติ”

อภิวัฒน์ เอนเอียง บิดเบี้ยว = กระบวนการยุติธรรมไทย

ด้านเมย์มองกระบวนการยุติธรรมไทยผ่านสามคำที่ต่างออกไป คำแรกของเธอคือ “อภิวัฒน์” ที่มาจากคำว่าตุลาการภิวัฒน์ เธอเผยว่า “วันนี้เราจะเห็นศาลเข้ามาเอี่ยวกับการเมืองมากขึ้น กลายเป็นประเด็นว่าศาลยังเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้อีกไหม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่องไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำม็อบที่ถูกคุมขังอยู่ตอนนี้ มันชัดเจนว่ายังไม่มีคำตัดสินแต่พวกเขากลับถูกกักขังเสรีภาพไปแล้ว สะท้อนถึงการขยายคำว่าดุลยพินิจให้กว้างขึ้นมาก และดูอย่างศาลรัฐธรรมนูญที่มีครหาว่าทุกวันนี้เป็นตัวแทนของใครกันแน่ ตัวแทนของประชาชนหรือของรัฐ ก็กลายเป็นว่าอำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในอำนาจอธิปไตยได้สยบยอมรับใช้อำนาจบริหารรึเปล่า และพฤติการณ์อย่างที่เป็นอยู่เช่นนี้ก็สั่นคลอนภาพลักษณ์ความเป็นอิสระ-เป็นกลางของอำนาจตุลาการตามที่ได้ปลูกฝังกันมา ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่องค์กรตุลาการขาดการยึดโยงกับประชาชน เมื่อตัดสินคดีก็ไม่ได้คำนึงว่าตัวเองกำลังใช้อำนาจของประชาชนอยู่”

คำที่สองคือ “เอนเอียง” เมย์บอกว่า “เวลาที่มองตาชั่งแล้วเห็นมันเอียงจริง ๆ ระหว่างน้ำหนักของรัฐกับน้ำหนักของประชาชนมันไม่เท่ากัน ในหลาย ๆ คดีเราแทบจะเขียนคำพิพากษารอได้เลยด้วยซ้ำ และหลายครั้งที่นักกฎหมายออกมาคาดคะเนว่าคำพิพากษาจะเป็นไปในแนวไหน เพราะต่างก็รู้อยู่ว่าถ้าเป็นคดีที่ดำเนินการกับคณะนั้นคณะนี้ผลน่าจะออกมารูปแบบไหน”

คำสุดท้ายของเมย์คือ “บิดเบี้ยว” เธอขยายความว่า “เริ่มจากต้นน้ำคือตำรวจเวลาจะจับเช่นจับผู้ชุมนุมหลายครั้งก็ไม่มีหมายจับ ทำกันเหมือนกฎหมายเป็นหมัน มิหนำซ้ำเมื่อจับไปแล้วก็ไม่ได้พาไปสถานีตำรวจ แต่พาไป ตชด.บ้าง ไปในที่ ๆ ไม่ใช่เขตอำนาจของเขา ขณะที่ปลายน้ำอย่างราชทัณฑ์ก็มีกระแสข่าวออกมาว่าแกนนำที่ถูกขังอาจไม่ปลอดภัย ทั้งมวลสะท้อนให้เห็นว่ามันผิดไปจากกระบวนการที่ถูกต้อง”

เมื่อถามต่อว่าสามคำของแต่ละคนส่งผลให้ศรัทธาของคนไทยต่อกระบวนการยุติธรรมลดน้อยลงไปมากแค่ไหน มอสก็ตอบอย่างมั่นใจว่า “สามคำนี้ทำให้คนในสังคมกลัวกระบวนการยุติธรรม เพราะความไม่โปร่งใส ส่งผลให้เป็นเรื่องยากที่คนจะไว้วางใจอย่างที่ควรจะไว้ใจ  อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่ากฎหมายทั้งหมดจะเป็นแบบนั้น ในบ้านเราผมว่าที่เสื่อมศรัทธาหลัก ๆ ก็คือรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญาและก็กฎหมายมหาชน สำหรับรัฐธรรมนูญต้องเข้าใจก่อนว่าตอนนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหามาตั้งแต่ต้น เพราะจริง ๆ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน แต่ฉบับนี้กลุ่มบุคคลที่กุมอำนาจนำกลับเป็นคนออกแบบมาเบ็ดเสร็จ และไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อเป็นทางออกให้กับประเทศแต่อย่างใด และแม้หลายฝ่ายพยายามจะแก้ แต่สุดท้ายก็ถูกดึงไปให้ศาลรัฐธรรมนูญจัดการผ่านการบอกให้ทำประชามติทั้งก่อนและหลังอีก ซึ่งเห็นได้ชัดถึงความพยายามในการรักษาอำนาจของกลุ่มคนที่กุมอำนาจไว้ มันจึงวนลูปไปจนคนสิ้นศรัทธา แต่ยังไงก็ขออย่าเพิ่งสิ้นหวังนะครับ” ด้านเมย์ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “สามคำที่ว่าส่งผลให้คนในสังคมขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ถึงที่สุดประชาชนก็จะไม่คิดว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายได้อีกแล้ว”

นักกฎหมายหนึ่งคนที่เป็นแรงบันดาลใจในการเรียน…คนนั้นคือใคร

แม้จะผิดหวังกับความจริงที่เจอ แต่คนเราก็ยังคงมุ่งมั่นย่ำไปบนเส้นทางที่เลือกได้หากแต่ละวันยังมีแรงบันดาลใจจากคนที่รักหรือศรัทธาคอยผลักดัน สำหรับมอสแรงบันดาลใจของเขาคือศาสตราจารย์พิเศษสมยศ เชื้อไทย หรือที่นักศึกษาในคณะเรียกว่า “ป๋ายศ” มอสเล่าว่า “ป๋ายศเป็นอาจารย์ที่ทุ่มเทให้กับนักศึกษา เป็นคนที่ปูพื้นฐานเรื่องประชาธิปไตยและการเป็นนักกฎหมายที่ใช้กฎหมายเพื่อช่วยเหลือสังคม อย่างศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายของคณะนิติศาสตร์ที่มุ่งช่วยเหลือประชาชน ท่านก็เป็นคนริเริ่ม และประโยคหนึ่งของท่านที่ผมเคยนำไปใช้ตอนขึ้นปราศรัยคือ อย่ามัวแต่เล่นแร่แปรธาตุกับตัวอักษรจนไม่ใยดีปัญหาสังคม ผมว่านี่คือประโยคที่ชัดเจนที่สุด เป็นเหมือนคำเตือนขณะเดียวกันก็เป็นแรงบันดาลใจไปด้วย อธิบายเพิ่มเติมคือท่านต้องการสื่อว่าคนที่เรียนกฎหมายเมื่อรู้ว่ามีคนทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องแล้วจะทำยังไง จะนิ่งเฉยหรือต่อสู้กับความไม่ถูกต้องนั้น คำตอบคือก็ต้องต่อสู้โดยเริ่มจากสนใจสังคมก่อน”

ส่วนเมย์ เธอเลือกอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ถึงไม่ใช่ลูกศิษย์โดยตรงแต่เมย์ก็บอกว่าตนถือคติอ่านหนังสือของอาจารย์ท่านใดก็สามารถเป็นลูกศิษย์โดยอ้อมของอาจารย์นั้นได้ “เมย์อยากมั่นคงในหลักการที่เรียนมา ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนไปมากจนคิดว่าต้องหาอะไรมาเป็นหลักยึดเพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นไม้หลักปักเลนไปได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ทำให้เห็นคือท่านจะแสดงความเห็นทางกฎหมายหรือประเด็นทางสังคมโดยยึดหลักการที่ถูกต้องเสมอ เราเลยรู้สึกว่าโอเคคนนี้แหละเป็นต้นแบบของการไม่สยบยอมต่ออำนาจเหนือกฎหมายได้” เธอเล่าถึงเหตุผลที่เลือกอาจารย์วรเจตน์

เรียนจบแล้วถ้าได้เข้าไปทำงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม คิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนแปลงอะไรให้กระบวนการยุติธรรมไทยน่าเชื่อถือมากขึ้น

“คนเรามีหลายปัจจัยในการเลือกอาชีพ สำหรับผมที่เรียนกฎหมายไม่ว่าจบไปแล้วทำอาชีพอะไร แต่อย่างนึงที่ต้องเตือนตัวเองไว้ตลอดคือต้องรักษาหลักการที่เราได้เคยเล่าเรียน แต่ถ้าเข้าไปแล้วทำไม่ได้จริง ๆ ก็อาจหันไปทำอาชีพอื่นแทน” คำตอบจากมอสชวนให้ฉันเอ่ยถามต่อว่าหากคนที่เรียนกฎหมายคิดไปทำงานนอกพื้นที่กระบวนการยุติธรรมหลักกันเป็นส่วนใหญ่ แล้วจะมีตัวแทนคนรุ่นใหม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบยุติธรรมไหม

เขาตอบกลับว่า “ยังไงก็มีคนรุ่นใหม่เข้าไปในระบบอยู่แล้วครับ แต่จะเปลี่ยนได้รึเปล่าอันนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ส่วนตัวผมเชื่อว่าคนที่เรียนกฎหมาย ลึก ๆ แล้วเริ่มต้นแต่ละคนเข้าใจในความยุติธรรมนะ เมื่อจบไปบางคนอาจยังคิดว่าเข้าไปในระบบแล้วสามารถเปลี่ยนจากข้างในได้ แต่สำหรับผมที่เคยคุยกับคนข้างใน อย่างผู้พิพากษาบางคนเองก็เล่าให้ฟังว่าเข้าไปแล้วในองค์กรมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงยากจริง ๆ การที่คนในสังคมไม่นิ่งเฉย ออกมาแสดงความเห็นและเรียกร้องต่อองค์กรตุลาการจึงเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ควรเป็น”

ความตั้งใจของเมย์ไม่ได้ต่างจากมอสมากนัก แม้จะมีเส้นทางความฝันที่ชัดเจนว่าอยากเป็นผู้พิพากษาแต่เธอก็ไม่ปฏิเสธว่าความผิดหวังต่ออาชีพผู้พิพากษาในปัจจุบันนั้นมีอยู่บ้าง กระนั้นเธอก็เอ่ยอย่างหนักแน่นถึงความตั้งใจอันน่าชื่นชมว่า “เมย์มองว่าถ้าตัวเองได้เข้าไปทำงานตรงนั้นก็คงได้มีโอกาสใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนไปในทางที่มันถูกมันควร และแม้จะเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลยถ้าเกิดมีแค่เราคนเดียวที่จะเปลี่ยน กระนั้นก็ยังมีความหวังว่าจะเปลี่ยนได้”

นอกจากนี้ทั้งสองยังเปิดมุมมองถึงเทรนด์ของนักศึกษากฎหมายในปัจจุบันที่เรียกว่าผิดคาดอยู่มาก “ผู้พิพากษาอาจไม่ได้เป็นเทรนด์อาชีพอันดับหนึ่งของเด็กที่เรียนกฎหมายที่ มธ. แล้ว ซึ่งต่างจากเมื่อห้าหกปีก่อนเยอะมาก เพื่อนร่วมรุ่นหลายคนดูมีแนวทางเป็นของตัวเอง และหลากหลายอาชีพที่น่าสนใจทั้งในสายงานเอกชนหรือสายงานระหว่างประเทศ แต่ยังไงก็ไม่ปฏิเสธว่าคนที่อยากเป็นนั้นมีอยู่ ไม่ว่าจะอยากเป็นด้วยตัวเองหรือครอบครัวผลักดัน อย่างบ้านไหนที่อยากให้ลูกเป็นผู้พิพากษาก็จะให้ลูกสอบเข้าไป แต่สำหรับผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผมคิดว่าตัวเองโชคดีที่มีอิสระในการตัดสินใจที่จะประกอบอาชีพ ส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับความเชื่อถือที่มีต่อองค์กรที่เราอยากเข้าไปทำงานด้วย แต่สุดท้ายคือมันขึ้นอยู่กับว่าเรามีอิสระในการตัดสินใจแค่ไหน งานที่ทำขัดต่อหลักการที่เราเรียนมาและเชื่อไหม รวมถึงผู้นำองค์กรยุคนั้น ๆ เป็นยังไง” คือคำยืนยันจากมอส

ขณะที่เมย์ก็บอกว่าเทรนด์นักศึกษานิติรามคำแหงก็เปลี่ยนไปมากเช่นกัน “ตอนนี้หลาย ๆ คนบอกอยากไปทำเอกชน เหตุผลหลัก ๆ คือเงินเดือนและวิธีคิดขององค์กร อย่างถ้าอยู่ราชการที่ข้องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเขาก็จะค่อนข้างยึดระบบอาวุโส เรื่องที่สุดจะตลกร้ายคือเขาตัดสินอนาคตกันในวันที่สอบได้โดยอิงลำดับคะแนน อย่างคนที่สอบได้ที่ หนึ่งก็รักษาเนื้อรักษาตัวกันเพื่อเตรียมเป็นประธานศาลฎีกาในอนาคตได้เลย ขณะที่เอกชนเขาไม่มีระบบอาวุโสอะไรเทือกนี้แต่เขาต้องการคนที่ตั้งคำถาม เมื่อเห็นข้อเสียขององค์กรก็กล้าที่จะพูดซึ่งแบบนี้มันตรงกับจริตของคนรุ่นใหม่มากกว่า”

สนทนามาถึงตรงนี้ก็เห็นภาพของกระบวนการยุติธรรมไทยชัดขึ้น หากจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยให้นักศึกษากฎหมายคิดหาทางเดินใหม่ ๆ ให้ตัวเขาเองก็คงไม่ผิดไปจากความจริงเท่าไรนัก

ออกข้อสอบ นศ.ถามคนในกระบวนการยุติธรรมตอบ

ในโลกจริงเมื่อเรียนจบ นักศึกษากฎหมายคือคนที่ต้องทำข้อสอบเพื่อแข่งขันกันให้ได้เข้าไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของกระบวนการยุติธรรม แต่ช่วงสุดท้ายของการสนทนาฉันเลือกท้าทายมอสและเมย์ด้วยการให้ทั้งสองออกข้อสอบถามคนที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมอยู่ขณะนี้แทน 

เมื่อกำลังเผชิญหน้ากับความตายคุณจะเลือกชีวิตหรือหลักการ ?

ประโยคโปรยปกหลังจากหนังสือสะพรึงคือคำถามที่เมย์อยากได้ยินคำตอบ เธอขยายเพิ่มว่าความตายในที่นี้ไม่ใช่ความตายตรงตัว แต่หมายถึงความลำบากที่อาจประสบกับตัวเองหรือคนที่รัก ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นก็อยากรู้ว่าจะเลือกอะไร และเพราะอะไร 

ในวันแรกที่คุณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมคุณสัญญากับตัวเองว่าอย่างไร แล้วปัจจุบันคุณคิดว่าทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ?

คำถามของมอสดูเหมือนจะธรรมดาแต่หากอยากได้ยินความจริงก็คงต้องใช้หัวใจตอบ เขาขยายความให้ชัดขึ้นว่า “สำหรับอาชีพกฎหมายทุกคนมักเริ่มต้นด้วยคำกล่าวปฏิญาณหรือไม่ก็สัญญากับตัวเองว่าจะอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจอะไร ถึงวันนี้สิ่งที่ผมอยากให้เขาได้ทบทวนคือสิ่งที่ทำอยู่กับความตั้งใจแต่ต้นไปในหนทางเดียวกันไหม บางทีคำถามนี้อาจเป็นคำถามที่ผมต้องใช้เตือนตัวเองในอนาคตเองก็เป็นไปได้” 

เชื่อว่านักศึกษากฎหมายอีกหลายคนในประเทศนี้ก็ผิดหวังไม่ต่างจากทั้งสอง ก่อนจบบทสนทนาฉันจึงขอให้เมย์และมอสฝากประโยคสั้น ๆ ถึงเพื่อนที่เรียนกฎหมายด้วยกัน มอสฝากว่า “เมื่อเรียนจบเป็นนักกฎหมายคนหนึ่งแล้วเราจะนำความรู้ที่เรียนไปรับใช้สังคมยังไง” ส่วนเมย์ทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ว่า

“อยากฝากให้เพื่อน ๆ ไม่ตัดขาดตัวเองออกจากสังคม ไม่อยากให้คิดว่าเรามีหน้าที่รักษาความฝันเพียงอย่างเดียวเพราะว่าถ้ากลไกทางสังคมพังทลายและไม่เอื้อต่อความฝันแล้วสุดท้ายก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะภาคภูมิใจในฝันนั้น”

บทสนทนาสิ้นสุดแต่เรื่องราวอีกมากมายกลับโลดแล่นเข้ามาในความคิด เสียงที่ได้ฟังจากมอสและเมย์ไม่เพียงบอกเล่ามุมมองในฐานะนักศึกษากฎหมายแต่ยังพาไปไกลถึงขั้นเห็นบางความจริงของกระบวนการยุติธรรมไทยแจ่มชัดขึ้น และแม้คำว่า “ผิดหวัง” ที่ออกจากปากทั้งสองจะชวนให้รู้สึกอาลัยต่อกระบวนการยุติธรรมอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็ไม่ได้ชวนให้ “สิ้นหวัง” ไปเสียทีเดียว เช่นนั้นหากคิดจะฝาก “ความหวัง” ในการเรียกคืนยุติธรรมกลับสู่กระบวนการยุติธรรมไว้กับนักศึกษากฎหมายแล้ว  ตัวเราในฐานะพลเมืองไทยก็ไม่ควรนิ่งเงียบชนิดเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่ไยดีใด ๆ ต่อสังคม เพราะถึงแม้นักศึกษากฎหมายอีกร้อยคนพันคนเติบโตไปเป็นความยุติธรรม แต่ถ้าความเงียบยังคงอยู่ อำนาจเหนือกฎหมายก็ย่อมแทรกซึมเข้าโอบความอยุติธรรมให้ดำรงอยู่ต่อไป จนนักศึกษากฎหมายรวมถึงตัวเราเองอาจส่งเสียงอะไรไม่ได้อีก….ก็เป็นได้

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

flow chart แสดงขั้นตอนการปฏิบัติงาน lmyour แปลภาษา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ การเขียน flowchart โปรแกรม ตัวรับสัญญาณ wifi โน๊ตบุ๊คหาย ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน ผู้แต่งกาพย์เห่ชมไม้ ภูมิปัญญาหมายถึง มีสัญญาณ wifi แต่เชื่อมต่อไม่ได้ เชื่อมต่อแล้ว ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ /roblox promo code redeem 3 พระจอม มีที่ไหนบ้าง AKI PLUS รีวิว APC UPS APC UPS คือ Adobe Audition Adobe Bridge Anapril 5 mg Aqua City Odaiba Arcade Stick BMW F10 jerk Bahasa Thailand Benz C63 ราคา Bootstrap 4 Bootstrap 4 คือ Bootstrap 5 Brackets Brother Scanner Brother iPrint&Scan Brother utilities Burnt HD C63s AMG CSS เว้น ช่องว่าง CUPPA COFFEE สุราษฎร์ธานี Cathy Doll หาซื้อได้ที่ไหน Clock Humidity HTC-1 ColdFusion Constitutional isomer Cuppa Cottage เจ้าของ Cuppa Cottage เมนู Cuppa Cottage เวียงสระ DMC DRx จ่ายปันผลยังไง Detroit Metal City Div class คือ Drastic Vita