การเกษตรในสมัยอยุธยามีลักษณะแบบใด

“ข้าว” (rice) เป็นพืชที่เติบโตได้ดีในเขตร้อน (Tropical) และเขตอบอุ่น (temperate) มีคุณสมบัติอันโดดเด่นเพราะสามารถอยู่ได้แม้ในระดับน้ำที่สูงกว่า 4 เมตร หรือไม่มีน้ำขังเลยก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของที่ราบภาคกลางของไทยซึ่งมีน้ำท่วมหน้าฝน ข้าวยังผูกพันกับวัฒธรรมไทยมาอย่างยาวนานถึงขั้นมีเทวีข้าวพันธุ์ธัญญาหาร คือ “พระแม่โพสพ” มีหลายข้อสังเกตจากการศึกษาพบว่าแท้จริงพืชชนิดนี้มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย ปัจจัยนานาประการที่ทำให้ดินแดนภาคกลางปลูกข้าวได้ดีเป็นตัวขับเร่งทำให้เกิดการเติบโตของชุมชนเมืองก่อนขยายตัวกลายเป็นรัฐ ซึ่งหนึ่งในราชอาณาจักรที่ใช้พลังทางเศรษฐกิจจากการกสิกรรมลักษณะนี้มาส่งเสริมอำนาจก็คือ อาณาจักรอยุธยา นั่นเอง

อาณาจักรอยุธยาซึ่งสถาปนาโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำเลี้ยงประชากรที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ การทำกสิกรรมโดยเฉพาะการปลูกข้าวจึงแพร่หลายในชุมชนโบราณตั้งแต่ยุคก่อนก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อสถาปนากรุงฯ อยุธยาที่เดิมพัฒนามาจากชุมชนการค้าและการกสิกรรมอยู่แล้ว จึงมีข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญร่วมกับของป่า ประมงน้ำจืด รวมทั้งพืชไร่พืชสวน เป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของชุมชน ประชากร และเศรษฐกิจการค้า กลายเป็นศูนย์กลางที่ทรงพลังอำนาจในแถบนี้

ภาพโคลงภาพ “สร้างกรุงศรีอยุธยา” เขียนโดย นายอิ้ม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “พระราชพงศาวดาร เล่ม ๑ ฉบับพิมพ์ ร.ศ. ๑๒๐ พ.ศ. ๒๔๔๔) โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ

การปลูกข้าวในประเทศไทยก่อนสมัยอยุธยาเป็นการทำ “ข้าวไร่” ก่อนพัฒนาสู่ “นาดำ” และ “นาหว่าน” โดยเฉพาะการทำนาที่ประหยัดพื้นที่กว่าทำข้าวไร่ 6-7 เท่า ทำให้ชุมชนสามารถรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นได้ ชุมชนขนาดใหญ่พัฒนาเป็นเมือง การทำนาข้าวในสุโขมัยและล้านนาทำให้เกิดการจับจองที่ดินทำกิน เมืองขยายตัว รัฐเริ่มออกกฎหมายเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ มีการผลิตเครื่องมือเกษตร และพัฒนาระบบชลประทาน

พื้นที่ตั้งแต่บริเวณที่ปัจจุบันเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจรดอ่าวไทย หรือที่เรียกว่าที่ราบเจ้าพระยาตอนล่าง มีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 2 เมตร ความลาดเท 1-2 องศา ทำให้น้ำฝนไหลลงตามแม่น้ำต่าง ๆ จะไหลช้ามาก ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนจึงมักมีน้ำท่วมขัง น้ำจากแม่น้ำก็ล้นฝั่งท่วมเข้าแผ่นดินนำพาอินทรีย์สารจากที่สูงมาเป็นอาหารแก่นาข้าว เพิ่มความสมบูรณ์ให้หน้าดิน ทั้งป่าอันหนาทึบสมัยอยุธยายังช่วยให้ฝนตกชุกชุมและชะลอไม่ให้ไหลเร็วเกินไป น้ำท่วมเฉพาะที่นา ที่อยู่อาศัยหากไม่ใช้แพลอยน้ำก็จะตั้งอยู่บนคันดินซึ่งใช้ปลูกผักผลไม้

ข้าวในสมัยอยุธยากลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญยิ่งของรัฐบาล เพราะตั้งแต่ยุคเมืองอโยธยา (ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองในปัจจุบัน) แถบนี้พัฒนาจากชุมชนการค้า-การเกษตรอยู่แล้ว อยุธยาในสถานะราชอาณาจักรที่มีศูนย์กลางตั้งอยู่บนพื้นที่ทำนาอันอุดมสมบูรณ์และกว้างขวางสามารถเสริมสร้างกำลังทางเศรษฐกิจจากการทำนาข้าว ไม่เพียงแต่เลี้ยงดูประชากร แต่ยังเพื่อกักตุนเป็นเสบียงอาหารแก่กองทัพในการรุกราณอาณาจักรข้างเคียง และการค้าทางทะเลกับชาติเอเชียโดยเฉพาะจีน ก่อนชาติตะวันตกจะเริ่มมีบทบาทในการค้ากับอยุธยามากขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์สุพรรณภูมิ การมีพื้นที่ทำนามากทำให้รัฐเก็บอากรค่านาได้เยอะมากขึ้นไปด้วย ด้วยระบบราชการแบบจตุสดมภ์ รัฐมีผู้รับผิดชอบเป็นเสนาบดีกรมนาผู้จัดการด้านเกษตรและเก็บอากรค่านา สิ่งสะท้อนความสำคัญของประโยชน์จากนาข้าวคือเสนาบดีกรมนามีตราประจำตำแหน่งถึง 9 ดวง แสดงถึงอำนาจหน้าที่มีมากพอสมควร ส่วนราชทินนามเต็มคือ “ออกญาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนกระเสตราธิบดีอภัยพิธี ปรากรมภาหุ” มีศักดินา 10,000 (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 2 : 2515 : 231)

(ภาพจาก www.technologychaoban.com)

อีกข้อสังเกตความสำคัญของนาข้าวในอยุธยาคือ การเอานามาเป็นหน่วยวัดศักดิ์ของขุนนางและฐานันดรของผู้คน หรือที่เรียกว่า “ศักดินา” ซึ่งจะปรากฏรูปแบบสังคมนี้ชัดเจนในยุคสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในพระไอยการทาษ ยังมีตราพระราชกำหนดไม่ให้ขายทาสไปไถ่ทาสคืนในฤดูทำนา เพราะจะขาดแรงงานทำนา คนอยุธยาจึงให้ความสำคัญกับข้าวเสมอมาตั้งแต่ก่อนสถาปนาอาณาจักร ปรากฎในกฎหมายโคสาราษฎร์ว่า “งัว ควายไปกินข้าวกล้าของผู้อื่นถึง 3 วัน เจ้าของวัวควายนิ่งเสีย ไม่แจ้งให้เจ้าของข้าวรู้ ต้องเอาเหล้าสองไห ไก่สองตัว มาสังเวยข้าวนั้น” (ถิ่น รัติกนก 2530: 34)

ประวัติศาสตร์อยุธยายุคต้นที่คาบเกี่ยวกับปลายสุโขทัยนั้น ส่วนหนึ่งที่ทำให้กำลังที่เหนือกว่าของอยุธยาผนวกสุโขทัยได้ มาจากพื้นที่ปลูกข้าวสุโขทัยไม่มากเท่าอยุธยา สุโขทัยพ่ายสงครามครั้งแล้วครั้งเล่าถึง 7 ครั้ง ในเวลา 17 ปี เพราะความบริบูรณ์ด้านเสบียงอาหารไม่อาจเทียบเท่ากองทัพอยุธยาที่แม้มาในฐานะผู้รุกราน และก่อนที่อยุธจะเริ่มรบกับพม่าในศึกเชียงไกร-เชียงกราน กษัตริย์อยุธยามักทำสงครามกับหัวเมืองล้านนาเพื่อขยายอำนาจขึ้นเหนือ ซึ่งมีศึกมากถึง 14 ครั้ง เริ่มตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พ.ศ. 1929 ถึงพ.ศ. 2088 สมัยพระไชยราชาธิราช รวม 126 ปี และฝ่ายรุกรานเป็นอยุธยาทั้งสิ้น จะเห็นว่าหากอยุธยาไม่มีเสบียงพร้อมย่อมไม่สามารถก่อสงครามได้ถี่ขนาดนี้

ความสำคัญของข้าวต่อการทหารมีผลต่อการป้องกันตัวของอยุธยาอย่างยิ่ง ในพ.ศ. 2086 สมเด็จพระเจ้ากรุงหงสาวดี (บุเรงนอง) ยกพลเป็นทัพขนาดใหญ่ถึง 300,000 คน มาล้อมอยุธยา แต่เพราะขัดสนเสบียงจึงตัดสินใจถอนกำลังขึ้นเหนือไปปะทะทัพหนุนของอยุธยาที่เป็นทัพหัวเมืองเหนือแตกพ่ายไปและแย่งชิงเสบียงมา แต่ทัพอยุธยาที่ตามมาไล่ตีซ้ำกลับพ่ายแพ้ไปอีก ศึกนี้ทำให้พระเจ้ากรุงหงสาฯ จับกุมพระราเมศวรและพระมหินทราธิราช พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ ต่อมา พ.ศ.2128 กษัตริย์พม่าแก้ไขจุดอ่อนสั่งทัพเชียงใหม่เคลื่อนลงมาจากทางเหนือ และทัพพระมหาอุปราชแห่งหงสาวดีคุมกำลังเข้ามาทำนาที่เมืองกำแพงเพชร เพื่อเตรียมทำศึกยืดเยื้อกับอยุธยา พระนเรศวรเห็นว่าอยุธยาจะเสียเปรียบหากพม่าล้อมอยุธยาทั้งมีเสบียงพร้อม จึงยกกำลังออกไปตีทัพทั้งสองเพื่อไม่ให้สะสมกำลังได้

บทบาทของข้าวยังส่งผลต่อการล่มสลายของอยุธยา ซึ่งแม้ไม่ใช่ปัจจัยหลักแต่เป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุสำคัญ นั่นคือ ในการปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาของพม่า เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ทัพคองบองแห่งพม่าล้อมอยุธยาอยู่นานถึง 14 เดือน ฝ่ายไทยซึ่งไม่คิดว่าพม่าจะมีกำลังทรัพยากรเลี้ยงดูกองทัพได้นานขนาดนี้ เกิดภาวะขาดแคลน กำลังฝ่ายอยุธยาเสียหายไปมากเป็นเหตุให้เสียกรุงอีกครั้ง ถึงตรงนี้ความสำคัญของข้าวและเสบียงอาหารต่อการล่มสลายของอยุธยาสอดคล้องกับงานเขียน “พลังภูมิศาสตร์คองบอง กับการล่มสลายของอยุธยา” ของ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช ที่เชื่อมโยงเอาพลังทางภูมิศาสตร์ของดินแดนลุ่มแม่น้ำอิรวดี เปรียบเทียบกับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมชี้ว่าพม่ามีความได้เปรียบอยู่พอสมควร

แผนที่แสดงหน่วยภูมิศาสตร์เปรียบเทียบระหว่างรัฐพม่ากับรัฐอยุธยา (ภาพดัดแปลงจากแผนที่ในหนังสือ A History of Myanmar Since Ancient Times: Traditions and Transformations, 2012) จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2562
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2562

อาจารย์ดุลยภาคระบุว่า จุดหัวใจของรัฐคองบอง หรือแม้แต่รัฐตองอูยุคต้น (โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าบุเรงนอง) มีข้อเท็จจริงว่าพม่านั้นมีต้นทุนทางภูมิศาสตร์กสิกรรมในระดับสูง กระตุ้นให้กองทัพพม่าช่วยผลิตกำลังพลและเสบียงอาหาร จนทะยานออกมาทำศึกนอกบ้านได้หลายครั้งแบบเต็มอัตราศึก ปากแม่น้ำอิรวดีและบางส่วนของปากแม่น้ำสะโตงเต็มเปี่ยมไปด้วยหัวเมืองและพื้นที่การเกษตรซึ่งมากกว่าแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ความได้เปรียบนี้ส่งเสริมแสนยานุภาพแก่กองทัพพม่าให้เหนืออยุธยาเป็นที่แน่นอน ขณะที่อยุธยามีความลงตัวทางภูมิศาสตร์ซึ่งถูกจำกัดไว้ที่ตัวพระนครฯ ทำให้ผู้นำอยุธยาลำพองในความเลอเลิศในศูนย์กลางดังกล่าว แต่การพัฒนากสิกรรม นาข้าว และระบบชลประทาน ถูกจัดการในขนาดพื้นที่ซึ่งด้อยกว่าพม่า จึงเห็นว่าความบริบูรณ์ของอยุธยาแม้จะส่งเสริมการรุกรานรัฐข้างเคียงเป็นประเทศราชได้บ้าง แต่กับพม่าซึ่งมีพลังทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ อยุธยากลายเป็นฝ่ายเพลี้ยงพล้ำ

อย่างไรก็ตามในยุคที่รัฐอยุธยาปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์และเริ่มขยายอำนาจไปทั่วในภูมิภาค เราไม่อาจตัดความสำคัญของ “ข้าว” ซึ่งเป็นที่มาของอำนาจทางการเมืองของอยุธยา และด้วยการให้ความสำคัญกับข้าวและความสมบูรณ์ในการเพราะปลูกนี้ อยุธยาจึงดำรงความยิ่งใหญ่ในฐานะศูนย์กลางการปกครองได้นานถึง 417 ปี

 

อ้างอิง

กฎหมายตราสามดวง เล่ม 2. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2515.

ถิ่น รัติกนก (ผู้แปล). กฎหมายโคสาราษฎร์. เชียงใหม่ : วิทยาลัยครูเชียงใหม่. ม.ป.ป.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2548). ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

ดุลยภาค ปรีชารัชช. (2562, เมษายน) “พลังภูมิศาสตร์คองบอง กับการล่มสลายของอยุธยา”, ศิลปวัฒนธรรม.ปีที่ 40 (ฉบับที่ 6) : 78 – 79.

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

flow chart แสดงขั้นตอนการปฏิบัติงาน lmyour แปลภาษา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ การเขียน flowchart โปรแกรม ตัวรับสัญญาณ wifi โน๊ตบุ๊คหาย ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน ผู้แต่งกาพย์เห่ชมไม้ ภูมิปัญญาหมายถึง มีสัญญาณ wifi แต่เชื่อมต่อไม่ได้ เชื่อมต่อแล้ว ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ /roblox promo code redeem 3 พระจอม มีที่ไหนบ้าง AKI PLUS รีวิว APC UPS APC UPS คือ Adobe Audition Adobe Bridge Anapril 5 mg Aqua City Odaiba Arcade Stick BMW F10 jerk Bahasa Thailand Benz C63 ราคา Bootstrap 4 Bootstrap 4 คือ Bootstrap 5 Brackets Brother Scanner Brother iPrint&Scan Brother utilities Burnt HD C63s AMG CSS เว้น ช่องว่าง CUPPA COFFEE สุราษฎร์ธานี Cathy Doll หาซื้อได้ที่ไหน Clock Humidity HTC-1 ColdFusion Constitutional isomer Cuppa Cottage เจ้าของ Cuppa Cottage เมนู Cuppa Cottage เวียงสระ DMC DRx จ่ายปันผลยังไง Detroit Metal City Div class คือ Drastic Vita