หลักธรรมใดไปประยุกต์ใช้ในการทำงานส่วนรวม

 

ท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลกสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการทำกำไรสูงสุด และคนจำนวนไม่น้อยก็มุ่งหวังที่จะขึ้นสู่จุดสูงสุดในการทำงาน ท่านผู้อ่านอาจมีข้อสงสัยว่า ธรรมะกับการทำงานมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร หรือธรรมะจะมีประโยชน์อย่างไรในโลกที่โซเชียลมีเดียมาแรงอย่างเช่นในปัจจุบัน BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับความเมตตาจากพระราชพัชรมานิต (ชยสาโรภิกขุ) หรือที่คุ้นหูในนาม “พระอาจารย์ชยสาโร” แห่งสถานพำนักสงฆ์อาศรมชนะมาร บ้านไร่ทอสี จังหวัดนครราชสีมา ท่านเป็นผู้มีความสามารถในการบรรยายธรรมที่ลึกซึ้งให้สามารถเข้าใจได้ง่าย พระธรรมเทศนาของท่านจึงได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ซึ่งในครั้งนี้พระอาจารย์จะมาให้ข้อธรรมะเพื่อความเจริญก้าวหน้าในการทำงาน และการใช้ชีวิตที่สมดุลสำหรับคนทำงานที่ชีวิตในแต่ละวันเต็มไปด้วยภารกิจมากมายและการกระทบจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานใช่ความสุขที่แท้จริงหรือ

         พระอาจารย์ตั้งคำถามว่า “ความก้าวหน้าในอาชีพคืออะไร ถ้าคนทำงานในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เขาทำงานด้วยดีและมีความภาคภูมิใจในการทำงาน นั่นก็คือความก้าวหน้าเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องขึ้นอยู่กับการไต่ระดับตำแหน่งในองค์กรเสมอไป ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องพยายามก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารหรือพยายามมุ่งสู่ตำแหน่งสูงสุดเสมอไป เช่น ถ้าดูโรงพยาบาลหรือโรงเรียน ก็ใช่ว่าหมอที่ดีหรือหมอที่เก่งจะเป็นผู้บริหารที่ดี หรือครูที่สอนเด็กได้เก่งจะเป็นผู้บริหารที่ดี มันเป็นคนละความเชี่ยวชาญ (Skill Set) กัน

         “อย่างไรก็ตาม แม้เราจะก้าวหน้าในความหมายทางโลก แต่ทุกคนจะต้องเจอกับโลกธรรม แล้วถ้าเราขาดการพัฒนาจิตใจ เราจะต้องทุกข์กับโลกธรรม เพราะลาภยศอยู่ที่ไหน เสื่อมลาภเสื่อมยศอยู่ที่นั่น สรรเสริญอยู่ที่ไหน นินทาอยู่ที่นั่น ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะได้รับแต่การสรรเสริญอย่างเดียวโดยไม่มีใครนินทา สำหรับคนที่ติดในคำสรรเสริญเยินยอ คำสรรเสริญให้กำลังใจจากคน 99 คน ยังอาจมีน้ำหนักน้อยกว่าคำนินทาของคนเพียงคนเดียว ฉะนั้น ถ้าเราไม่รู้จักดูแลจิตใจ ถึงจะก้าวหน้า ถึงจะประสบความสำเร็จ ก็ยังทุกข์ได้ตลอดเวลา

         “ถ้าเราศึกษาเรื่องของโลก ความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของสิ่งต่าง ๆ เราจะสามารถก้าวหน้าทางอาชีพ โดยจิตใจของเราก็จะก้าวหน้าไปด้วย ถ้าเอาแต่อาชีพ โดยไม่ดูแลจิตใจ แทนที่จะเป็นสุข เมื่อมาถึงจุดที่คิดว่าจะได้ความสุข กลับยังรู้สึกว่าทำไมนี่ยังไม่ใช่ เหมือนยังขาดอะไรอยู่สักอย่าง โดยเฉพาะคนใหญ่คนโตที่เคยมีแต่คนยกมือไหว้ หลังเกษียณสักหกเดือน ไม่มีใครจำได้ ถ้าเอาชื่อเสียง เอาความเคารพของคนอื่นเป็นที่พึ่ง ก็ต้องยอมรับว่า สิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ตามธรรมดา”

บริหารอย่างไรให้ได้ใจลูกน้อง

         “แต่เดิมรูปแบบความสัมพันธ์ในองค์กรใช้ครอบครัวเป็นต้นแบบ คำว่า ‘ลูกน้อง’ ก็บอกอยู่ในตัวว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยควรอยู่ในรูปแบบไหน ผู้น้อยไม่ใช่แค่ลูกจ้าง หากถือว่าเป็นลูก เป็นน้อง ผู้ใหญ่หรือคนเป็นนายจะต้องมีความเมตตาต่อลูกน้องทุกคน ซึ่งความเมตตาในระดับที่สามารถนำไปใช้ได้ทั่วไปคือความหวังดี แม้เราจะมองบางคนว่าทำงานไม่ถูกใจ ไม่รับผิดชอบ เอารัดเอาเปรียบคนอื่น แต่เราก็ยังหวังดีต่อเขาได้ในลักษณะที่หวังให้เขาได้กลับตัวเป็นคนดี หวังให้ได้เปลี่ยนพฤติกรรม ความหวังดีต่อกันและกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ การทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร

         “วิวัฒนาการของระบบทุนนิยมในช่วง 30 - 40 ปีที่ผ่านมา องค์กรส่วนใหญ่วัดความสำเร็จจากกำไรสูงสุดของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก โดยอาจละเลยการดูแลความเป็นอยู่ของคนในองค์กร เช่น การจ้างงาน แบบลูกจ้างชั่วคราว เพื่อไม่ต้องเสียสวัสดิการต่าง ๆ หรือกีดกันการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ทำทุกวิถีทางเพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ พนักงานเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมาย เพราะผู้บริหารไม่เห็นคุณค่า ฉะนั้น ความรู้สึกผูกพัน ความจงรักภักดี ความเป็นเพื่อนต่อกันและกันจึงหายไป ในระยะสั้นองค์กรอาจได้กำไร แต่ในระยะยาว ถ้าเรามองในแง่ของการสร้างองค์กรที่มีคุณลักษณะที่พนักงานทุกคน มีความภาคภูมิใจว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ตรงนี้จะไม่ได้

         “ฉะนั้น การที่ผู้บริหารให้เกียรติ มีความหวังดีต่อลูกน้อง และสามารถปลูกฝังให้พนักงานทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ตามหลักความยุติธรรม ความถูกต้อง ทั้งในแง่จิตวิทยา ล้วนจะเกิดผลดีต่อการทำงานทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว”

ยึดหลักพรหมวิหาร 4 ในการทำงาน

         แม้พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่มีที่สุด ท่านยังบัญญัติข้อปาราชิกไว้ในวินัยสงฆ์ พระที่อาบัติปาราชิกต้องสึกทันที และห้ามบวชใหม่เด็ดขาด ในความเมตตาจึงต้องมีความเด็ดขาด เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม

         “คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นระบบองค์รวม เช่น พรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ข้อสำคัญที่เป็นตัวแทนของปัญญา ในกลุ่มนี้ คือ อุเบกขา เราได้พูดถึงเมตตาที่เป็นความหวังดีต่อตัวบุคคล ส่วนอุเบกขาคือความหวังดีต่อส่วนรวม หวังดีต่อหลักการที่ต้องรักษาไว้ เพื่อความสุข เพื่อประโยชน์ของทุกคนในระยะยาว ถ้าพนักงานประมาท ทำงานไม่ดี ซึ่งจะทำให้ทั้งตัวเขาและส่วนรวมเสื่อม หรือถ้าคนหนึ่งทำผิดแล้วเจ้านายไม่เอาเรื่อง คนอื่นที่มีกิเลสก็ได้ใจ เมื่อเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน สุดท้ายก็จะเกิดผลเสียต่อส่วนรวม ดังนั้น เมตตาไม่ได้แปลว่าไม่เป็นไร หากเรามีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องเหล่านี้”

         พระอาจารย์ยกตัวอย่างโรงเรียนปัญญาประทีป ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำวิถีพุทธระดับมัธยมที่ไม่เคยมีมาก่อน นักเรียนกลุ่มแรกที่รับมามีปัญหาหลายคน พระอาจารย์สังเกตว่าครูต้องเหนื่อยและใช้เวลากับเด็กที่มีปัญหามากจนไม่มีเวลาพอสำหรับเด็กคนอื่น ๆ ครูบางคนค้านว่าเราควรเมตตาช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา แต่ถ้ามองภาพรวมและการพัฒนาโรงเรียนให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน สุดท้ายท่านจึงให้จำกัดโควตาที่จะรับเด็กที่มีปัญหา เพราะถ้ารับมากเกินไป ครูจะไม่ไหวและไม่เป็นธรรมกับเด็กที่ไม่มีปัญหา

         “นี่คือพรหมวิหารที่เราต้องมองแต่ละจุด และมองภาพรวม มองกลับไปกลับมาเหมือนซูมเข้าซูมออก เมตตาคือซูมเข้า อุเบกขา คือซูมออก”

ปัญหาของเกือบทุกองค์กรอยู่ที่การสื่อสาร

         “สิ่งที่อาตมามองเห็นว่าเป็นปัญหาในเกือบทุกองค์กรคือ การสื่อสาร ถ้าหากผู้ใหญ่เป็นผู้เชื่อมั่นในตัวเองสูงและเจ้าอารมณ์ บางครั้งเมื่อมีปัญหาในระดับล่าง พนักงานจะไม่กล้ารายงานขึ้นไป เพราะกลัวโดนดุ กลัวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

         “ฉะนั้น ถ้าเราต้องการให้มีการสื่อสารการหมุนเวียนของข้อมูลในองค์กร เราต้องสร้างบรรยากาศที่พนักงานระดับล่างรู้สึกพร้อมและกล้าที่จะส่งข้อมูลขึ้นไปข้างบน (Bottom-up) ซึ่งอยู่ที่บุคลิกและความประพฤติของผู้บริหารด้วย ต้องมีวิธีที่คนในองค์กรจะสามารถแสดงความคิดเห็นในรูปแบบและในกาลเทศะที่เหมาะสม เพราะบางทีก็มีผู้ที่อยากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดหรือกำลังจะเกิดขึ้น แต่ไม่รู้จะไปพูดที่ไหน กับใคร เมื่อไหร่ อย่างไร เราจึงต้องมีทั้งเวทีและสร้างวัฒนธรรม ‘เปิดใจ’ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา นี่ถือเป็นเรื่องจำเป็น”

         พระอาจารย์ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า “ในการสร้างวัฒนธรรม เปิดใจในวิถีของสงฆ์ แม้จะมีระบบอาวุโส แต่ก็มีธรรมเนียมปวารณาตัวด้วย ที่พระสงฆ์ทุกรูปตั้งแต่เจ้าอาวาสลงไปต้องปวารณาตัวกับพระทุกรูปว่า ถ้าท่านเห็นผมทำอะไรหรือพูดอะไรไม่ถูกต้อง หรือผมมีจุดบอดอะไร ช่วยบอกด้วย เป็นการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ อย่างเป็นทางการ”

เคล็ดลับสำหรับผู้บริหาร 3 ข้อ

         พระอาจารย์ได้แนะนำเคล็ดลับสำหรับผู้บริหารองค์กร 3 ข้อ คือ (1) ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกน้อง (2) เมื่อผิดพลาด ต้องยอมรับความผิดพลาด อย่าปิดบังอำพราง และ (3) ต้องฉลาดในเรื่องคน ต้องรู้ว่าพนักงานคนนี้มีความสามารถอย่างไร มีข้อดีข้อเสียตรงไหน ต้องรู้จักและศึกษาคน ต้องให้งานที่เหมาะสมกับคนด้วย จึงจะเป็นผู้บริหารที่ดีได้

         พระอาจารย์ได้กล่าวถึงหลักกัลยาณมิตตตาว่า คือการพยายามเป็นเพื่อนที่ดีและการสร้างประโยชน์ส่วนรวมเท่าที่จะทำได้ และต้องไม่ละเลยการสร้างประโยชน์ส่วนตนด้วย บางคนมีจิตเสียสละ มุ่งสร้างแต่ประโยชน์เพื่อส่วนรวม มักจะทำได้ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อทำอย่างเต็มที่ได้สักระยะหนึ่ง ไฟก็จะมอด การจะสร้างประโยชน์ได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องนั้นต้องสร้างสมดุลทั้งประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม

องค์กรต้องการคนแบบไหน “คนเก่ง” หรือ “คนดี”

         เรามักได้ยินคำกล่าวว่า คนนี้ดีแต่ไม่เก่ง หรือคนนั้นเก่งแต่ไม่ดี ที่จริงคำว่า “ดี” ในภาษาบาลีตรงกับคำว่ากุศล และคำว่า “กุศล” มีรากศัพท์มาจากคำว่าฉลาด ดังนั้น ในทางพุทธธรรมถือว่าความดี กับความฉลาดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

         “ทางพุทธศาสนา ถ้าดีแต่ไม่เก่ง ถือว่าดีไม่สมบูรณ์ ถ้าเก่งแต่ไม่ดี ถือว่าเก่งไม่จริง เพราะถ้าเก่งจริงต้องมีผลทางพฤติกรรม ถ้าอยากรู้ว่าใครเป็นนักปราชญ์ ใครมีปัญญา จะรู้ได้อย่างไรเพราะเป็นเรื่องนามธรรมภายใน พระพุทธองค์ให้ดูที่พฤติกรรม คนที่มีปัญญา เข้าใจหลักความเจริญความเสื่อมของชีวิต ต้องรักษาศีล 5 อย่างแน่นอน คนไม่รักษาศีล 5 ไม่สนใจศีลธรรม แสดงว่ายังไม่รู้เรื่องปัญญาในความเป็นมนุษย์ ความเจริญความเสื่อม ความสุขความทุกข์ แม้จะจบมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงขนาดไหนก็ตาม เราเห็นการพัฒนาระบบการศึกษาที่เน้นทางสมองมาก แต่เป็นผู้นำที่ขาดวุฒิภาวะทางจิตใจมากมาย เพราะเป็นการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์”

ชีวิตดีอยู่แล้ว ทำไมต้องปฏิบัติธรรม

         การปฏิบัติธรรมคือการบริหารจิต การป้องกันกิเลส การแก้ไข กิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว การปลูกฝังคุณธรรม การบำรุงดูแลและพัฒนาคุณธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป และกิจกรรมที่มุ่งมั่นต่อการละกิเลส การบำรุงคุณธรรม ก็คือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม

         “พระพุทธองค์สอนว่าทุกข์เกิดเพราะกิเลส ทุกข์จะดับเพราะกิเลสดับ ทุกข์ทางใจจะต้องมีกิเลส แม้สิ่งแวดล้อมหรือคนรอบข้างจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีกิเลสอยู่ในใจจะไม่ทุกข์ กิเลสยิ่งมากทุกข์ยิ่งมาก กิเลสยิ่งน้อยทุกข์ยิ่งน้อย นี่คือสมมติฐานที่พระพุทธเจ้าให้เราพิสูจน์ ด้วยการศึกษาชีวิต

         “ถ้าเรายอมรับว่า เราทุกข์เพราะกิเลส ทุกข์จะดับเพราะดับกิเลส แล้วเราอยากเป็นทุกข์ไหม อยากพ้นทุกข์ไหม แล้วทุกวันนี้เรามียุทธวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้กิเลสในใจเราน้อยลง ก็เหมือนเราทำงานทางโลกที่ต้องวางแผนการทำงาน ต้องศึกษาวิธีการที่จะเข้าถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในการปฏิบัติธรรม เราก็ต้องฝึกกาย วาจา ใจพร้อมกัน เพื่อป้องกันกิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้นเท่าที่จะป้องกันได้ ในส่วนที่ป้องกันไม่ได้ เราต้องรู้จักจัดการกับมันให้ดีที่สุด”

จริงหรือไม่ถ้ามุ่งบรรลุธรรมต้องไม่แต่งงาน

         พระอาจารย์ชี้แนะว่า การบรรลุธรรมมี 4 ขั้น แต่ขั้นที่สำคัญที่สุด คือขั้นแรก การบรรลุเป็นพระโสดาบัน ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เพราะถ้าถึงจุดนั้นแล้วจะไม่เสื่อม เป็นการปิดประตูอบายในการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีการตกนรก ไม่เกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรตอีกแล้ว และจะเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ ถ้าไม่เกิดเป็นมนุษย์ ก็เกิดเป็นเทวดา

         “สิ่งที่ชาวพุทธทุกคนควรจะสนใจ ไม่ต้องถึงขั้นบรรลุนิพพานในชาตินี้ การบรรลุโสดาบันก็ถือว่าเข้ากระแสนิพพานแล้ว ประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา มีผู้ครองเรือนบรรลุธรรมในขั้นนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งชายและหญิง

         “เงื่อนไขสำคัญสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน คือ การไม่ละเมิด ศีล 5 การถือศีล 8 ในวันอุโบสถเป็นครั้งคราว มีโอกาสเข้าวัดเข้าวา ปลีกตัวออกจากสิ่งแวดล้อมเพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนาเต็มที่ปีละครั้ง สองครั้ง ถือเป็นฐานที่พอใช้ได้

         “แต่ถ้ามุ่งจะบรรลุธรรมขั้นสูงสุด การไม่แต่งงานแล้วบวชเป็นพระ เป็นชีนี่ดี อย่างไรก็ตาม สถิติผู้ที่อายุยืนและมีความสุขได้มักจะเป็นคนที่มีครอบครัวที่อบอุ่น มีคู่ครองมีลูกมีหลาน จนต้องยอมรับว่านี่เป็นผลจากความสุขทางโลก ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร”


“ความนิ่ง” เป็นภูมิคุ้มกันในโลกที่โซเชียลมีเดียมาแรง

         “เมื่อเราเห็นคุณค่า ความสำคัญ และความจำเป็นของการเจริญสติ รวมทั้งการมีสติเป็นที่พึ่ง แล้วมาพิจารณาเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย โดยมีกรอบ มีหลักที่จะตัดสินว่า จะเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ในลักษณะที่ไม่กระทบต่อสติ ไม่ทำให้ฟุ้งซ่านวุ่นวาย เราจึงจะได้พิจารณาเรื่องความพอดี ว่าเท่าไหร่มันจึงจะพอดี”

         ท่านกล่าวว่า คำว่า “พอดี” ฟังเหมือนเป็นคำง่าย ๆ แต่ที่จริงมีความหมายลึกซึ้ง เพราะการจะตัดสินอะไรว่าพอดีหรือไม่พอดี ต้องโยงไปถึงเป้าหมายของเรา พอดี คือสิ่งที่ในเวลานั้น ในบริบทนั้น เป็นสิ่งที่เอื้อที่สุดต่อการเข้าถึงเป้าหมาย นั่นคือพอดีในเวลานั้น พอดีของแต่ละบุคคล หรือพอดีของคน ๆ หนึ่งในแต่ละวาระก็อาจจะไม่เหมือนกัน

         “ที่จะแนะนำคือ เวลาก่อนนอนและตื่นนอนอย่าดูโทรศัพท์ เนื่องจากเราอยู่ในโลกแห่งการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างรวดเร็ว เราจึงควรมีเวลาในแต่ละวันอยู่กับการไม่เคลื่อนไหว คือ ‘ความนิ่ง’ ด้วย การฝึกจิตให้มีสมาธิเพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน ตอนเช้าก่อนจะออกมาทำหน้าที่ต่าง ๆ ให้เริ่มต้นด้วยการดูแลจิตใจ ฝึกจิตให้มีสติ ทำวัตร สวดมนต์นั่งสมาธิสักครึ่งชั่วโมงก่อนจะดูโทรศัพท์มือถือ บางคนจะนั่งสมาธิ ทำวัตร สวดมนต์ก่อนนอนให้สงบ แต่แล้วก็ทำลายความสงบนั้น เพราะอดไม่ได้ที่จะดูไลน์จากคนนั้นคนนี้

         “ปัญหาของเราส่วนมากไม่ใช่ว่าปัญญาไม่มี หรือไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด แต่เมื่อมีความกดดัน การยั่วยุ เราคิดไม่ทัน คือกระแสกิเลส มันชักนำคล่องกว่า ฉะนั้น สิ่งท้าทายคือทำอย่างไรปัญญาจะวิ่งมาทัน นี่เป็นบทบาทของการเจริญสติ เพราะการเกิดขึ้นของสติเป็นเงื่อนไขของการใช้ปัญญา พอเรามีสติก็เหมือนตื่นขึ้นมา คำถามว่า นี่ถูกหรือ ผิด ควรหรือไม่ควร เหมาะหรือไม่เหมาะ เป็นบุญหรือเป็นบาป จะผุดขึ้นมา และเครื่องระลึกหรือที่ตั้งของสติที่เป็นพื้นฐานที่สุด ในชีวิตประจำวันก็คือ ศีล 5 การรักษาศีลนั่นแหละคือการเจริญสติ คนขาดสติมีทางเลือกน้อย ส่วนผู้มีสติมีทางเลือกมาก เพราะถ้าขาดสติ จิตจะตกร่องตามความเคยชินตามกิเลส หากเมื่อตั้งสติแล้ว จิตที่เป็นกลางจะละเอียด สามารถพิจารณาแง่มุมต่าง ๆ แยกแยะ ผลดีผลเสียในระยะสั้นระยะยาว คือคิดได้เพราะมีสติ การเจริญสติจึงสำคัญมาก”


>> ดาวน์โหลด PDF Version
>> ชมคลิปวีดิโอ
>> อ่าน e-Magazine

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

flow chart แสดงขั้นตอนการปฏิบัติงาน lmyour แปลภาษา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ การเขียน flowchart โปรแกรม ตัวรับสัญญาณ wifi โน๊ตบุ๊คหาย ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน ผู้แต่งกาพย์เห่ชมไม้ ภูมิปัญญาหมายถึง มีสัญญาณ wifi แต่เชื่อมต่อไม่ได้ เชื่อมต่อแล้ว ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ /roblox promo code redeem 3 พระจอม มีที่ไหนบ้าง AKI PLUS รีวิว APC UPS APC UPS คือ Adobe Audition Adobe Bridge Anapril 5 mg Aqua City Odaiba Arcade Stick BMW F10 jerk Bahasa Thailand Benz C63 ราคา Bootstrap 4 Bootstrap 4 คือ Bootstrap 5 Brackets Brother Scanner Brother iPrint&Scan Brother utilities Burnt HD C63s AMG CSS เว้น ช่องว่าง CUPPA COFFEE สุราษฎร์ธานี Cathy Doll หาซื้อได้ที่ไหน Clock Humidity HTC-1 ColdFusion Constitutional isomer Cuppa Cottage เจ้าของ Cuppa Cottage เมนู Cuppa Cottage เวียงสระ DMC DRx จ่ายปันผลยังไง Detroit Metal City Div class คือ Drastic Vita