สาระสําคัญในศิลาจารึกหลักที่ 1 มีอะไรบ้าง

จารึกหลักที่ ๑ เป็นหลักฐานที่สำคัญที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ทั้งพระราชประวัติ พระราชจริยาวัตร พระปรีชาสามารถต่างๆ ของพระองค์ และยังให้ความรู้ด้านการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการทำนุบำรุงศาสนา ด้านวัฒนธรรมประเพณี ด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และด้านสภาพบ้านเมืองและภูมิทัศน์ของเมืองสุโขทัย ฯลฯ ดังตัวอย่างคุณค่าบางประการต่อไปนี้

๑ คุณค่าด้านประวัติศาสตร์

                                เนื้อหาพระราชประวัติปรากฏชัดเจนอยู่ในด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑-๑๘ ว่า พระราชบิดาของพระองค์คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ต้นราชวงศ์พระร่วง พระราชมารดาคือ นางเสือง ทรงมีพี่น้องร่วมพระอุทร ๕ องค์ เป็นชาย ๓ องค์ และเป็นหญิง ๒ องค์ ในจารึกทราบเรื่องราวของพระเชษฐาองค์ใหญ่ว่าสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระเยาว์ และพระเชษฐาอีกพระองค์ คือ พ่อขุนบานเมืองเท่านั้น ส่วนองค์อื่นๆ มิได้กล่าวถึง พระองค์ทรงครองราชย์ต่อจากพ่อขุนบานเมือง

จารึกหลักที่ ๑ ให้ความรู้เกี่ยวกับกษัตริราชวงศ์พระร่วง ๓ พระองค์แรง ซึ่งสืบราชสันตติวงค์จากพระราชบิดาสู่พระราชโอรสผู้พี่และโอรสผู้น้องตามลำดับ

ส่วนเหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยนั้น แม้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จะได้สถาปนาราชวงศ์พระร่วงและขึ้นครองราชย์แล้ว บ้านเมืองก็ยังไม่สงบ จารึกหลักที่ ๑ นี้ กล่าวถึงขุนสามชน เจ้าเมืองฉอดยกทัพมาชิงเมืองตาก ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของสุโขทัย จึงทำให้ทราบว่าบ้านเมืองยังไม่สงบที่เดียว ยังมีการแย่ชิงกันเป็นใหญ่ในกลุ่มเมืองเล็กเมืองน้อย

พ่อขุนราชคำแหงได้แสดงพระปรีชาสามารถเมื่อพระชนมายุ ๑๙ ปี โดยชนช้างชนะขุนสามชน พระองค์จึงได้รับพระราชทานพระนามจากพระราชบิดา “พระรามคำแหง” นอกจากนี้พระองค์ยังทรงปฎิบัติพระราชภารกิจในฐานะผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ กล่าวคือ เสด็จไปคล้องช้างเพื่อนำมาเป็นพาหนะในการศึก เมื่อเสด็จไปตีบ้านเมืองใด ก็วาดต้อนผู้คน ทรัพย์สมบัติ และช้างศึก มาถวายพระราชบิดา

ส่วนพระราชจริยาวัตรนั้น แม้จารึกหลักที่ ๑ จะมีเพียง ๑๘ บรรทัด ผู้ศึกษาจารึกหลักนี้ก็จะทราบได้ว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงมีพระราชจริยาวัตรงดงามที่เด่นชัด คือ ทรงรัก เคารพ เอาพระทัยใส่ และมีพระกตัญญุตาคุณต่อพระราชบิดาและพระมารดาในฐานะพระราชโอรส โดยทรงปรนนิบัติดูแลอย่างดี เช่น นำของเสวยที่ “กินอร่อยกินดี” มาถวาย เมื่อทรงทำศึกสงครามและยึดทรัพย์สิ่งของต่างๆได้ทรงนำมาถวาย และทรงรับผิดชอบปฎิบัติพระราชภารกิจในฐานะรัชทายาอย่างองอาจกล้าหาญ เช่น การทำสงครามปกป้องบ้านเมือง

 

๒ คุณค่าด้านการปกครอง

                                จารึกหลักที่ ๑ สะท้อนให้เห็นว่า อาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง เป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่พระองค์มิได้ทรงใช้พระราชอาจตามระบอบการปกครองดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ข้อความในจารึกหลักที่ ๑ จำนวนหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่า ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยความยุติธรรมและความเมตตา จนกล่าวกันว่า พ่อขุนรามคำแห่งทรงปกครองบ้านเมืองแบบ “พ่อปกครองลูก” นั่นคือ ทรงดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิดราวบิดาดูแลบุตร ในจารึกหลักนี้ปรากฏถ้อยคำภาษาและข้อความที่สนับสนุนคำกล่าวได้อย่างดี เช่น คำว่า “พ่อขุน” “ลูกบ้านลูกเมือง” และ “ลูกเจ้าลูกขุน” ก็สะท้อนให้เห็นว่าทรงปกครองบ้านเมืองแบบพ่อปกครองลูก นอกจากนี้ถ้าใครมีเรื่องเดือดร้อน พระองค์ก็โปรดให้ไปลั่นกระดิ่งร้องทุกข์ เพื่อพระองค์จะได้ทรงสอบสวนให้ความเป็นธรรม และในวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือวันพระวันแรม ๘ ค่ำ พระองค์ก็โปรดให้พระเถระผู้ใหญ่ เทศนาสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน ถ้าไม่ใช่วันพระพระองค์ก็ประทับเหนือ “ขดารหิน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมืองคัล” นอกจากนี้ ยังได้ทรงบัญญัติกฎหมายต่างๆ ไว้หลายประการ เช่น

๑. กฎหมายเกี่ยวกับภาษี ยกเลิกภาษีผ่านด่าน (จกอบ) ทำให้ประชาชนค้าขายได้กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังข้อความในจารึกด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๙ ว่า “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพ่”

๒. กฎหมายเกี่ยวกับการค้าขาย ให้ประชาชนมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ในจารึกด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๙-๒๑ ว่า “เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่มาไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า”

๓. กฎหมายเกี่ยวกับมรดก ผู้ใดก็ตามที่เสียชีวิต มรดกทั้งหมดของผู้ตายทั้งหมดให้ตกอยู่แก่ลูก ดังข้อความในจารึกด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๑-๒๔ ว่า “ไพร่ฟ้าข้าไท ป่าหมากป่าพลูพ่อเชื้อมัน ไว้แก่ลูกมันสิ้น”

๔. กฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาคดี ผู้ใดก็ตาม ถ้ามีกรณีพิพาทกันให้ไต่ส่วนดูให้แน่นอนแล้วจึงตัดสินด้วยความยุติธรรม ไม่เข้าข้างผู้กระทำความผิดหรือผู้รับของโจร ไม่ยินดีอยากได้ข้าวของทรัพย์สินผู้อื่น ดังข้อความในจารึกด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๔-๒๗ ว่า “ป่าหมากป่าพลูพ่อเชื้อมัน ไว้แก่ลูกมันสิ้น ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน ผิแลผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แล้ จึ่งแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด”

๕. กฎหมายเกี่ยวกับการจับจองที่ดินทำมาหากิน ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการจับจองที่ดินทำมาหากิน หากผู้ใดสามารถหักร้างถางพงสร้างที่ทำกินเรือกสวนไร่นาได้ ก็ได้รับสิทธิครอบครองที่ดินแห่งนั้น ดังข้อความในจารึกด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๕ ว่า “สร้างป่าหมากป่าพลูทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครได้ไว้แก่มัน”

๖. กฎหมายเกี่ยวกับการปกครองเมืองขึ้น ถ้าผู้ใดมาขอเป็นเมืองขึ้น พระองค์จะทรงพระเมตตาพระราชทานความช่วยเหลือต่างๆ เช่น พระราชทานช้างม้า ข้าคน เงินทอง ให้แก่ผู้นั้น จนกระทั่งตั้งบ้านเมืองได้ ดังข้อความในจารึกด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๘-๓๑ ว่า “คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่อยเหลือเฟื้อกู้ มันบ่มีช้างบ่มีม้า บ่มีปั่วบ่มีนาง บ่มีเงือกบ่มีทอง ให้แก่มัน ช่อยมันตวงเป็นบ้านเป็นเมือง ได้ข้าเสือกข้าเสือ หัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี”

๗. กฎหมายเกี่ยวกับเชลยศึก เมื่อได้เชลยศึกมา พระองค์มีพระเมตตา ไม่ทรงกระทำการทารุณกรรมต่อเชลยด้วยการฆ่าหรือดี ดังจารึกด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๓๑ ว่า “ได้ข้าเสือกข้าเสือ หัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี”

กฎหมาย ๕ ข้อแรก เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของประชาชน ถ้าประชาชนมีที่ทำกิน ค้าขายได้อย่างอิสรเสรี ชีวิตก็ย่อมมีความสุขสบาย เมื่อมีกรณีพิพาทหรือมีเรื่องเดือดร้อนใดๆ พระองค์ก็ทรงปกครองดูแลราษฎรอย่างใกล้ชิดและอย่างยุติธรรม ทำให้ราษฎรในเมืองสุโขทัยอยู่อย่างสุขสบาย

ส่วนกฎหมายอีก ๒ ข้อ ก็แสดงให้เห็นถึงพระราชกุศโลบายของพระองค์ในการปกครองเมืองขึ้นและเชลยศึก พระองค์มิได้ทรงปกครองเมืองขึ้นด้วยพระราชอำนาจแต่ทรงใช้หลีกปกครองด้วยพระเมตตา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมีความเจริญรุ่งเรืองและมีอาณาเขตกว้างใหญ่มากที่สุดในสมัยสุโขทัย

๓ คุณค่าด้านศาสนา

ศิลาจารึกหลักที่ ๑ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นจารึกหลักแรกที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนับถือศาสนาของชาวไทย ทำให้เห็นว่าชาวไทยในสมัยสุโขทัยมีความเชื่อและนับถือศาสนาอะไร

ในจารึกหลักที่ ๑ แสดงให้เห็นว่าชาวไทยสุโขทัยนับถือพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ดังปรากฎในจารึกด้านที่ ๒ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๘-๑๘ กล่าวถึงประเพณีเข้าพรรษาและออกพรรษา อันเป็นประเพณีสำคัญในพระพุทธศาสนา ดังนี้

คนเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มันทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวเมืองชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสินทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมือพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐิน เดือนหนึ่งจึ่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพานกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัติกฐินเถิงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียนเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน

ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่าชาวเมืองสุโขทัย”ทุกคน” นับถือพระพุทธศาสนา ตั้งแต่เจ้าเมือง ชาววัง ขุนนาง และประชาชนทั่วไป เมื่อถึงชาวงเข้าพรรษาต่างถือศีล ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดทุกคน เมื่อถึงวันออกพรรษา มีประเพณี “กรานกฐิน” ชาวสุโขทัยต่างสละทรัพย์ บริจาคทานเพื่อเป็นบริพารกฐิน ถึงปีละสองล้าน และต่างเดินทางไป “สูดยัติกฐิน” ถึงเขตอรัญญิกเป็นจำนวนมาก เมื่อกลับเข้ามายังเมืองสุโขทัยถึงเป็นแถวแนวยาวถึง “หัวล้าน”  หรือบริเวณพื้นที่กว้างกลางเมือง แสดงให้เห็นว่าชาวเมืองสุโขทัยต่างศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จึงยินดีสละทรัพย์บำรุงพระพุทธศาสนา และปฎิบัติตนตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ในจารึกด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๗-๑๐ ยังแสดงให้เห็นว่าชาวเมืองสุโขทัยนอกจากจะนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ยังนับถือผีอีกด้วย ดังความว่า

มีพระขพุง ผีเทวดา ในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย

ชาวสุโขทัยเชื่อว่า “พระขพุง” เป็นเทวดาอารักษ์ที่มีอำนาจสูงสุดแห่งเมืองสุโขทัย สามารถดลบันดาลให้เมืองรุ้งเรืองหรือย่อยยับได้ ฉะนั้นผู้เป็นเจ้าเมืองต้องทำพลีกรรมเซ่นสรวงให้ถูกต้อง จึงจะทำให้บ้านเมืองสงบสุข ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าชาวสุโขทัยยังคงความเชื่อแบบดั้งเดิมของกลุ่มชนชาวไทยควบคู่ไปกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา

นอกจากจารึกหลักที่ ๑ จะแสดงให้เห็นความเชื่อและศาสนาของชาวสุโขทัยแล้ง ยังได้บันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาของชาวสุโขทัยไว้ด้วย ดังปรากฏในจารึกด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๗-๓๑ ดังนี้

เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้ มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวักกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราช

ข้อความในตอนนี้แสดงให้เห็นว่า ศาสนาพุทธในสมัยสุโขทัยน่าจะมีมากกว่าหนึ่งนิกาย เพราะได้กว่าถึง “มหาเถร” ซึ่งมาจากเมืองนครศรีธรรมราช และมีความแตกฉานในพระไตรปิฎกยิ่งกว่า “ปู่ครู” ในเมืองสุโขทัย ประเสริฐ ณ นคร (๒๕๔๗: ๑๒-๑๓) สันนิษฐานว่า ศาสนาพุทธในสมัยสุโขทัยน่าจะมี ๓ นิกาย คือ ฝ่ายความวาสี เป็นพระสงฆ์ที่จำพรรษาในเมือง ฝ่ายอรัญวาสี เป็นพระสงฆ์ที่จำพรรษาในเขตอรัญญิก และฝ่ายพระรูป เป็นพระสงฆ์นิกายมหายานที่บุชาพระบฏแบบจีน

อย่างไรก็ตามในจารึกหลักที่ ๑ กล่าวถึงเฉพาะฝ่ายคามวาสี และฝ่ายอรัญวาสี  ฝ่ายคามวาสีนี้น่าจะหมายถึง “ปู่ครูในเมืองนี้” ซึ่งเป็นนิกายเดิมในเมืองสุโขทัย และฝ่ายอรัญวาสีน่าจะหมายถึง “มหาเถร” ที่ “ลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา” พระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีซึ่งเดินทางมาจากเมืองนครศรีธรรมราชน่าจะเป็นผู้นำพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ในเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ก่อน พ่อขุนราชคำแหงมหาราชจึงทูลอาราธนาเชิญให้มาจำพรรษาในเมืองสุโขทัย และสร้างวัดถวายในเขตอรัญญิก จึงอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ในดินแดนนี้ครั้งแรกในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ฉะนั้น จารึกหลักที่ ๑ จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บันทึกเหตุการณ์การประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์อันเป็นลัทธิสำคัญของไทยที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

๔  คุณค่าด้านเศรษฐกิจ

                                จารึกหลักที่ ๑ นอกจากจะบันทึกสภาพสังคมและวัฒนธรรมแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจของเมืองสุโขทัยด้วย ดังปรากฏในจารึกด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘-๒๑ ดังนี้

เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า

ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมืองสุโขทัยอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ชาวเมืองสุโขทัยส่วนใหญ่จะน่าจะยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการทำนาปลูกข้าวกันอย่างแพร่หลาย ดังนั้นในจารึกจึงกล่าวว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติจึงอาจทำให้ชาวสุโขทัยไม่ต้องประกอบอาชีพอื่นเพื่อเลี้ยงปากท้อง

อย่างไรก็ตาม ในข้อความข้างต้นก็แสดงให้เห็นว่าในสมัยสุโขทัยมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ามากมาย ทั้งการขายช้างและม้า การขายเงินและทอง การค้าขายนี้น่าจะเป็นทั้งการค้าขายภายในเมืองสุโขทัย และการค้ากับเมืองอื่นๆ ดังเห็นได้จากข้อความ “ลู่ท่างเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย” แสดงให้เห็นว่าชาวเมืองสุโขทัยนำสินค้าภายในเมืองเดินทางไปขายยังเมืองอื่น โดยบรรทุกสินค้าด้วยม้าหรือโค

นอกจากนี้ยังมีการนำสินค้าภายนอกเข้ามาขายในเมืองสุโขทัย เนื่องจากมีการใช้คำว่า     “จกอบ” ซึ่งหมายถึง จังกอบหรือจำกอบ เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากสัตว์หรือสินค้าภายนอกมาขายในเมืองสุโขทัย ไม่ต้องเสียค่าภาษี ฉะนั้นการค้าในเมืองสุโขทัยจึงเป็นการค้าแบบเสรี จึงน่าจะทำให้พ่อค้าต่างเมืองนิยมมาค้าขายภายในเมืองสุโขทัยและอาจทำให้เมืองสุโขทัยเป็นแหล่งรวมสินค้าจากเมืองต่างๆ อีกทั้งเมื่อพิจารณาสภาพที่ตั้งของเมืองสุโขทัยที่เป็นเมืองแรกก่อนเข้าสู่อาณาจักรอื่นๆ ทางตอนบน เช่น ล้านนา ล้านช้าง หงสาวดี จึงน่าจะทำให้เมืองสุโขทัยเป็นแหล่งการค้าสำคัญของภูมิภาค

หากพิจารณาการสร้างโบสถ์วิหารและวัดวาอารามต่างๆ ในเมืองสุโขทัยก็ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่าชาวเมืองสุโขทัยมีความมั่งคั่ง จงทำให้สามารถบริจาคทรัพย์สินสร้างเป็นวัดวาอารามและพระพุทธรูปใหญ่น้อยมากมาย ดังความว่า “กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระ(พุ)ทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม” อีกทั้งในประเพณีกรานกฐินช่วงออกพรรษา ชาวเมืองสุโขทัยยังมีเงินทองบริจาคเป็นบริพารกฐินได้ถึงปีละสองล้านด้วย ดังข้อความ “เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน” การที่ชาวเมืองสามารถบริจาคทรัพย์สร้างวิหาร พระพุทธรูป และบริจาคเป็นทานในงานกฐินได้มากขนาดนี้ จึงอาจเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่าเมืองสุโขทัยต้องมีความมั่งคั่งสูงและมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีมาก

๕ คุณค่าด้านภาษาศาสตร์

๑. พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ตัวพยัญชนะ สระ  อีกทั้งวรรณยุกต์ขึ้นเป็นต้นว่า ได้เพิ่ม  ต ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ สระ อึ อือ แอ เอือ ฯลฯ ไม้เอก ไม้โท (ในรูปกากะบาท) จนทำให้สามารถเขียนคำได้ทุกคำ

๒. อักษรวิธีใช้ สามารถเขียน ตาก-ลม แยกออกไปจาก ตา-กมล ทำให้อ่านข้อความได้ถูกต้อง ไม่กำกวม กล่าวคือ ถ้าเป็นอักษรควบกล้ำให้เขียนติดกัน ส่วนตัวสะกดให้เขียนแยกห่างกันออกไป เช่น ตา-กลม ได้เขียนเป็น ตา กลํ ส่วนตาก-กลม เขียนเป็น ตาก ลํ

๓. ตัวหนังสือแบบพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ นำสระมาเรียงอยู่ในระดับเดียวกันกับพยัญชนะแบบเดียวกับตัวหนังสือของชาติตะวันตกทั้งหลาย น่าเสียดายที่สระเหล่านั้นถูกดึงกลับไปไว้ข้างบนตัวพยัญชนะบ้าง ข้างล่างบ้าง ในสมัยต่อมา ทั้งนี้เพราะคนไทยเคยชินกับวิธีเขียนข้างบนบ้างข้างล่างบ้าง ตามแบบขอมและอินเดียซึ่งเป็นต้นตำหรับดังเดิม

๔. ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของตัวหนังสือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือพยัญชนะทุกตัว เขียวเรียงอยู่บรรทัดเดียวกัน ไม่มีตัวพยัญชนะซ้อนกัน เหมือนตัวหนังสือของเขรม มอญ พม่า และไทยใหญ่ การที่พระองค์ทรงแก้ไขตัวอักษรของชาวสุโขทัยให้เรียงเป็นแนวเดียวกันได้นั้นเป็นการสำคัญยิ่งและควรที่ชาวสยามในปัจจุบัน จะสึกพระคุณ และมีความเคารพนับถือที่พระองค์ได้ทรงจัดแบบอักษรไทยให้สะดวกขึ้นให้มาก ทุกวันนี้การคิดแบบเครื่องพิมพ์ดีด การพิมพ์หนังสือได้เจริญรุ่งเรืองเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในด้านวิชาความรู้และทางราชการ นับว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงพระราชดำริเปลี่ยนรูปอักษรขอมและเรียงพยัญชนะเป็นแนวเดียวกันให้สะดวกไว้

๕. ตัวอักษรทุกตัวสูงเท่ากัน บางจองก็ขีดออกไปข้างแทนที่จะสูงขึ้นไปกว่าตัวอักษรตัวอื่นๆ บางของ ป และ ฝ สูงกว่าตัวอักษรอื่นๆนิดเดียว และทุกตัวสูงเท่ากับพยัญชนะ รวมทั้ง สระโอ ใอ และไอ ตัวอักษรแบบนี้เมื่อตีพิมพ์บางตัว ป และสระข้างล่าง ข้างบน จะไม่หักหายไปอย่างปัจจุบัน ไม่ตรงคอยซ่อมกันอยู่ตลอดเวลา

๖. พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยให้เขียนได้ง่ายและรวดเร็ว พยัญชนะแต่ละตัวต้องเป็นเส้นเดียวตลอดเวลา ในขณะที่ตัวหนังสือขอมต้องเขียนสองหรือสามเส้นต่อพยัญชนะตัวเดียว

๗. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์วรรณยุกต์ขึ้นทำให้สามารถอ่านความหมายของคำได้ถูกต้อง โดยไม่ต้องดูบริบทประกอบทั้งประโยค เช่น เสือ เสื่อ เสื้อ

จะเห็นได้ว่า จารึกหลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ถือเป็นเอกสารสำคัญอันทำให้มองเห็นสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตของชาวสุโขทัยได้อย่างชัดเจน และถือเป็นหลักฐานชื้นสำคัญชิ้นแรกของไทยที่บันทึกด้วยลายลักษณ์อักษร อันยืนยันให้เห็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทย

๖ คุณค่าด้านเนื้อหา

๑. เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนับว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของไทย ศิลาจารึกทำให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรสุโขทัยว่า มีปฐมกษัตริย์คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ กษัตริย์พระองค์ที่สองคือพ่อขุนบานเมืองและพระองค์ที่สามคือพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งได้ชื่อ “รามคำแหง” มาจากการรบชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ในการชนช้าง ดังข้อความที่ปรากฏในจารึกว่า “กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึ่งขึ้นชื่อกูพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน”

จากข้อความที่ปรากฏในจารึกสะท้อนให้เห็นว่า บรรพบุรุษของเราได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้ให้ลูกหลาน ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจและรับรู้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติบ้านเมือง

๒. ให้ความรู้ด้านอักษรศาสตร์ คือ ได้รู้จักต้นแบบของอักษรไทยก่อนพัฒนามาเป็นอักษรไทยที่ใช้ในปัจจุบัน ทั้งยังให้ความรู้ด้านภาษาไทยโบราณและภาษาถิ่น คำโบราณบางคำยังใช้อยู่ในภาษาถิ่นภาษาเหนือ เช่น คำว่า หลวก หมายถึง ฉลาด คำบางคำมีการเปลี่ยนความหมาย เช่น คำว่า กู สมัยสุโขทัยเป็นคำที่ใช้ปกติแต่ในปัจจุบันเป็นคำไม่สุภาพ ดังความที่ปรากฏในจารึกว่า

“พ่อกูชื่อขุนศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวกันห้าคน”

๓. ให้ความรู้ด้านการปกครองตามหลักนิติศาสตร์ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมรการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระมหากษัตริย์ทรงดูแลทุกข์สุกของราษฎรอย่างใกล้ชิด ดังข้อความในจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๑ กล่าวว่า “ในปากประตูมีกระดิ่งอันณื่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มักจักกล่าวเถิงเจ้าขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้วยชื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม”

จากข้อความที่ปรากฏในจารึก จะเห็นว่าประชาชนชาวสุโขทัยมีสิทธิที่จะเรียกร้องความยุติธรรมโดยการสั่นกระดิ่งประตูเมืองเมื่อมีเมื่อที่ต้องการร้องเรียน เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนต่างยอมรับและพ่อขุนรามคำแหงจะทรงไต่สวนด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้ จารึกหลักที่ ๑ ยังแสดงบันทึกกฎหมายมรดกไว้ เช่น เมื่อพ่อแม่ตายทรัพย์สมบัติให้ตกเป็นของลูก ดังข้อความที่ปรากฏในจารึกว่า “ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ ล้มตายหายกว่า เหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อคำมัน ช้างของลูกเมีย เยียข้าว ไพร่ฟ้าข้าไท ป่าหมากป่าพลูพ่อเชื้อมัน ไว้แก่ลูกทั้งสิ้น”

๗ คุณค่าด้านวรรณศิลป์

๑. ใช้ประโยคความเดียว สั้น ๆ กระชับ เข้าใจง่าย ไม่ซับซ่อน เพราส่วนขยายในแต่ละประโยคน้อยแต่อ่านแล้วได้ความครบถ้วน ดังข้อความที่ปรากฏในจารึกว่า “พ่อกูชื่อขุนศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวกันห้าคน ผู้ชายสาม ผู้ญิงโสง”

จากข้อความที่ปรากฏในจารึก สะท้อนให้เห็นลักษณะการใช้ภาษาในสมัยสุโขทัยที่จะใช้ประโยคความเดียวที่สั้น ง่ายและได้ใจความครบถ้วน ทำให้ได้ทราบว่า ใครทำอะไรที่ไหน อย่างไร และเมื่อไร

๒. ใช้ภาษาได้อย่างมีจังหวะและมีสัมผัสคล้องจอง ถึงแม้จารึกจะเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วแต่ก็มีการใช้คำที่มีจังหวะและมีสัมผัสคล้องจอง ทำให้สามารถจดจำได้ง่าย ดังข้อความที่ปรากฏในจารึกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลู่ท่างเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย”

จากข้อความที่ปรากฏในจารึก สะท้อนให้เห็นลักษณะการใช้ถ้อยคำที่มีสัมผัสคล้องจอง เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วจะรู้สึกเพลิดเพลินและเกิดจินตภาพชัดเจน

๘ คุณค่าด้านสังคม

จารึกหลักที่ ๑ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีชิ้นสำคัญ ที่ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นสภาพสังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีสมัยสุโขทัย ดังนี้

๑. สะท้อนวิถีชีวิตของประชาชนในสมัยสุโขทัย แสดงให้เห็นว่าประชาชนทำการเกษตร การประมงเพื่อดำรงชีวิตและมีการค้าขายที่เสรี ดังข้อความที่ปรากฏในจารึก การทำเกษตร และการทำประมง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ป่าพร้าวก็หลาย ป่าหมากก็หลายในเมืองนี้” การค้าขายแบบเสรี “ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า”

๒. สะท้อนความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสุโขทัย ว่าในสมัยนั้นชาวเมืองสุโขทัยยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประพฤติปฏิบัติตามประเพณีอย่างเคร่งครัด ดังข้อความที่ปรากฏในจารึกว่า “คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลายทั้งผู้ชายผู้ญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐิน เดือนณื่งจึ่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัติกฐินเถิงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียนเรียง  กันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวล้าน”

จากข้อความที่ปรากฏในจารึก จะเห็นได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงบันทึกให้เห็นถึงความเชื่อความศรัทธาของคนในอาณาจักรสุโขทัยที่มีต่อพระพุทธศาสนา และปฏิบัติเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

๓. สะท้อนความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษ ความเชื่อผีบรรพบุรุษเป็นเทพยดา มีกล่าวไว้ในศิลาจารึกด้านที่ ๓ ความว่า

“…มีพระขพุง ผีเทพยดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หาย…”

จากข้อความที่ที่ปรากฏในศิลาจารึก จะพบว่าในสมัยสุโขทัยปรากฏความเชื่อในการนับถือผีและเชื่อว่าผีสามารถให้คุณหรือให้โทษได้หากไม่ได้รับการบูชาให้ดีจากลูกหลาน

ข้อคิดที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ศิลาจารึกหลักที่ ๑ นอกจากเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีสะท้อนให้เห็นสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีแล้ว ยังแฝงไปด้วยข้อคิดที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้หลายประการ ดังนี้

  • ให้มีความกตัญญูต่อบิดา มารดาและผู้มีพระคุณ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ แสดงให้เห็นถึง

พระจริยาวัตรอันงดงามของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ทรงดูแลพระราชบิดา พระราชมารดา อย่างดี ดังข้อความที่ปรากฏดังศิลาจารึกว่า “เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู”

จากข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกสะท้อนให้เห็นว่า ความกตัญญูเป็นคุณธรรมที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน การเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสอมนของบิดามารดา ตอบแทนพระคุณด้วยการช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ย่อมทำให้ท่านมีความสุข เมื่อบุตรดีบิดามารดาย่อมส่งเสริมิสนับสนุนให้มีความก้าวหน้า อีกทั้งการกตัญญูต่อบิดามารดาและผู้มีพระคุณย่อมเป็นมงคลสูงสุดของชีวิตทำให้ได้รับการยกย่องและสรรเสริญจากบุคคลผู้พบเห็น

๒. ให้มีความรักใคร่ผูกพันระหว่าพี่น้อง สถานบันครอบครัวเป็นสถานบันหลักที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ คนในสังคมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข จะต้องเริ่มจากบุคคลในครอบครัวที่มีความรัก อาทร ห่วงใยซึ่งกันและกัน จากนั้นจึงขยายไปสู่สังคมส่วนรวม ดังข้อความที่ปรากฏในจารึกว่า “กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดั่งบำเรอแก่พ่อกู”

จากข้อความที่ปรากฏในจารึกสะท้อนให้เห็นสายใยของความรัก ความผูกพันระหว่างพี่น้อง แม้ว่าจะสูญเสียพระราชบิดา พ่อขุนรามคำแหงยังให้ความเคารพพระเชษฐา ดูแลประดุจบิดาของพระองค์

๓. ให้ปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงจารึกขึ้น สามารถใช้เป็นหลักฐานทางประวัติสาสตร์และโบราณคดี ถ่ายทอดเรื่องราวสภาพสังคม วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีสมัยสุโขทัยได้เป็นอย่างดี อีทั้งยังสะท้อนให้เห็นความเชื่อ ความศรัทธา การประพฤติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังข้อความที่ปรากฏในจารึกว่า “คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวบ้าน ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้ญิง ฝูงท่วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน”

จากข้อความที่ปรากฏในจารึกสะท้อนให้เห็นว่า คนในเมืองสุโขทัย มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ผู้คนทำบุญทำทาน รักษาศีล โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษาอันเป็นแบบอย่างที่ดีผู้คนรุ่นหลังควรเจริญรอยตาม เพื่อความสงบสุขของชีวิต

๔. การสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีเป็นหน้าที่ของทุกคน วัฒนธรรมและประเพณี คือ สิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นมรดกที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมประเพณีเป็นสิ่งอันมีคุณค่า ทำให้ได้ตระหนักเห็นคุณค่าและความสำคัญของการสืบทอดที่บรรพบุรุษได้กระทำให้เห็นเป็นตังอย่าง ดังข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกว่า “เมื่อจักเข้ามาเวียนเรียง กันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวล้าน ดงบงคมกลองด้วยเสียงพาดเสียงพิณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้ มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามา ดูท่านเผ่าเทียน ท่านเล่นไฟ”

 

 

จากข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีของไทยที่มีมาตั้ง

แต่บรรพบุรุษจึงนับเป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังที่จะต้องอนุรักษ์ สืบทอด ส่งเสริม เผยแพร่ ด้วยความภาคถูมิใจต่อจากบรรพบุรุษ หากหลงลืมวัฒนธรรมไทยและรับวัฒนธรรมต่างชาติมาย่อมทำให้วัฒนธรรมไทยเลือนหายไป

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

flow chart แสดงขั้นตอนการปฏิบัติงาน lmyour แปลภาษา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ การเขียน flowchart โปรแกรม ตัวรับสัญญาณ wifi โน๊ตบุ๊คหาย ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน ผู้แต่งกาพย์เห่ชมไม้ ภูมิปัญญาหมายถึง มีสัญญาณ wifi แต่เชื่อมต่อไม่ได้ เชื่อมต่อแล้ว ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ /roblox promo code redeem 3 พระจอม มีที่ไหนบ้าง AKI PLUS รีวิว APC UPS APC UPS คือ Adobe Audition Adobe Bridge Anapril 5 mg Aqua City Odaiba Arcade Stick BMW F10 jerk Bahasa Thailand Benz C63 ราคา Bootstrap 4 Bootstrap 4 คือ Bootstrap 5 Brackets Brother Scanner Brother iPrint&Scan Brother utilities Burnt HD C63s AMG CSS เว้น ช่องว่าง CUPPA COFFEE สุราษฎร์ธานี Cathy Doll หาซื้อได้ที่ไหน Clock Humidity HTC-1 ColdFusion Constitutional isomer Cuppa Cottage เจ้าของ Cuppa Cottage เมนู Cuppa Cottage เวียงสระ DMC DRx จ่ายปันผลยังไง Detroit Metal City Div class คือ Drastic Vita