ตอน นี้ ลงทุน อะไร ดี

ปี 2022 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่เต็มไปด้วยความผันผวนอย่างแท้จริง นับตั้งแต่สถานการณ์เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว จนกระทั่งถูกกดดันซ้ำด้วยปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งกรณีของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ไปจนถึงความพยายามแยก Supply Chain ออกจากกันระหว่าง 2 ขั้วอำนาจใหญ่ของโลกอย่างจีนและสหรัฐฯ กดดันเงินเฟ้อให้เร่งตัวมากขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังการดำเนินนโยบายการเงิน ให้รุนแรงมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เพิ่มความกังวลการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเงียบๆ ให้เป็นความกังวลหลักมากขึ้นอย่างชัดเจน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาไปยังประเทศจีน ที่เป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับสอง แม้จะมีเงินเฟ้อในระดับต่ำ ทำให้ไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว แต่การยึดมั่นนโยบาย Common Prosperity และ Zero-COVID อย่างเหนียวแน่น ทำให้ความหวังที่จีนจะเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่ช่วยพยุงทั้งโลกเอาไว้ ก็เลือนลาง

ทำให้ในช่วงกลางปีที่ผ่านมานั้น FINNOMENA Investment Team ได้มีคำแนะนำในการลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมลง ด้วยการลดน้ำหนักของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นลง

รูปที่ 1: FINNOMENA 2023 Outlook  Source :FINNOMENA as of 14/12/2022

อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึง FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่า สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนแปลงตามมุมมองการลงทุนของเราที่ชื่อ “A New Chapter Begins” ซึ่งมี 3 ธีมการลงทุนหลักคือ

“Mild” US Recession” ซึ่งหมายถึงการเดินหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศขนาดเศรษฐกิจอันดับหนึ่งนั้นมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ถดถอยแบบไม่รุนแรงและไม่ทำให้เกิดเป็นวิกฤติลุกลามขนาดใหญ่แต่อย่างใด

“China Reopen” หรือแนวโน้มการเปิดเมืองของจีน ที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะตามมาด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมทั้งหลายให้ผ่อนคลายลงมา จะก่อให้เกิดเป็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ

“Zero Yield No More”  หรือการหมดยุคของอัตราดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หนุนให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (yield) สูงมากที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อราคาในปี 2022 แต่ในปี 2023 ธนาคารกลางทั้งหลายกำลังส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใกล้สิ้นสุดลงทุกที หลังจากเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดเป็นที่เรียบร้อย จะทำให้ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่เริ่มมีความน่าสนใจลงทุน

ดังนั้นแล้ว ปี 2023 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงเป็นปีของโอกาสด้านการลงทุน ในหลากหลายสินทรัพย์ อาทิ หุ้นจีน ตราสารหนี้ และหุ้น Defensive พร้อมด้วยการกระจายการลงทุน และปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่าที่จะเป็นปีที่ออกจากตลาด หรือลดสัดส่วนแต่อย่างใด

Finnomena Investment Team ขอนำเสนอมุมมองการลงทุนปี 2023 ตามกรอบการวิเคราะห์ MEVT Framework ซึ่งเป็นการให้มุมมองการวิเคราะห์ที่รอบด้านตั้งแต่ปัจจัย Macro, Earnings, Valuation และ Technical ก่อนที่จะสรุปเป็นภาพรวมมุมมองกลยุทธ์การลงทุนในแต่ละสินทรัพย์สำคัญ

Macro: US Mild Recession

รูปที่ 2: อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ยูโรโซนและอังกฤษ Source: FINNOMENA, Macrobond as of 15/12/2022

การโจมตียูเครนของรัสเซีย มาตรการ Zero-COVID ที่เข้มงวดของจีน และการแยก Supply Chain ออกจากกันระหว่าง สหรัฐฯ และจีน ต่างทำให้อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจาก Pent Up Demand ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้ธนาคารกลางหลักๆ ของโลก ต้องเปลี่ยนแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว จากค่อยเป็นค่อยไป สู่การใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวแบบก้าวกระโดด ซึ่งสะท้อนผ่านทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากครั้งละ 0.25% สู่ครั้งละ 0.50% และ 0.75% ต่อเนื่องกันในที่สุด

รูปที่ 3: Conference Board Leading Economic Index® (LEI)  Source: FINNOMENA, Macrobond, Conference Board as of 15/12/2022

ปัจจัยทางความไม่สงบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายทางการเงินดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาผ่าน Conference Board Leading Economic Index (CB LEI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำด้านเศรษฐกิจสำคัญที่คำนวณจากทั้งปัจจัยในด้านเศรษฐกิจจริง (real sector) และตลาดการเงิน (financial components)  ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องสู่แดนติดลบ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานั้น ทุกครั้งที่ดัชนีดังกล่าวเข้าสู่แดนติดลบ จะตามมาด้วยการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ทำให้มีแนวโน้มสูงที่ในครั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย 

รูปที่ 4: PMI ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของสหรัฐฯ Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า แนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจในครั้งนี้ อาจแตกต่าง และมีโอกาสต่ำที่จะเกิดขึ้นเป็นวิกฤติ หรือเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง (Deep Recession) จากแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของภาคบริการที่สะท้อนผ่านทางดัชนี ISM Services PMI ที่ยังสามารถทรงตัวอยู่เหนือระดับ 50 จุด ซึ่งหมายถึงยังขยายตัวได้ ซึ่งโดยปกติแล้วดัชนีดังกล่าวนั้นมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับภาพเศรษฐกิจโดยรวม และดัชนีชี้นำภาคอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ภาคบริการอาจเป็นส่วนสำคัญในการหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงในปี 2023

รูปที่ 5: ระดับเงินออมและสัดส่วนที่มาของเงินออมของประชาชนสหรัฐฯ Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาไปยังเงินออมส่วนเกิน (excess saving) ที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 2020 จากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 และในช่วงเวลานั้น แม้เงินออมส่วนเกินจะลดลงสู่ระดับ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 2/2022 จากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และการหมดลงของมาตรการช่วยเหลือ แต่ยังนับว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต ทำให้นอกจากภาคบริการที่อาจเป็นปัจจัยหนุนแล้ว ยังอาจมีการบริโภคของประชาชนชาวสหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

รูปที่ 6: ระดับหนี้สินเทียบกับส่วนของเจ้าของและกำไรก่อนดอกเบี้ยและค่าเสื่อม Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

นอกจากนั้นแล้ว ในภาคธุรกิจยังมีงบดุลที่แข็งแกร่ง วัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา (net debt to EBITDA) และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (total debt to equity) ที่ต่ำเมื่อเทียบกับวิกฤติการเงินในปี 2008 เป็นอย่างมาก 

รูปที่ 7: 2023 US Recession Scenarios  Source: FINNOMENA as of 14/12/2022

FINNOMENA Investment Team ประเมินว่าโอกาสที่สหรัฐฯ จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยแบบไม่รุนแรง (mild recession) นั้นมีความเป็นไปได้สูงที่สุดถึง 60% ขณะที่ความเป็นไปได้ที่จะเกิด soft landing หรือการรอดพ้นจากเศรษฐกิจถดถอย และการเกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (deep recession) อยู่ที่ระดับ 30% และ 10% ตามลำดับ

Macro: China Reopen

รูปที่ 8: แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเปิดเมืองของประเทศจีน ปี 2565  Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

นับตั้งแต่ต้นปี 2022 ที่ผ่านมา ทางการจีนได้เริ่มผลักดันมาตรการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า 800,000 ล้านหยวน, 20 มาตรการผ่อนคลาย Zero-COVID และ 16 มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์

รูปที่ 9: จำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศของจีนในช่วงก่อนและหลังการผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid  

Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

รวมไปถึง 10 มาตรการผ่อนคลายโควิดเพิ่มเติมในช่วง 7 ธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่พอใจของประชาชนต่อมาตรการ Zero-COVID ที่เข้มงวดมาอย่างยาวนาน สะท้อนถึงความพยายามรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ความคาดหวังในการเปิดประเทศในระยะต่อไปเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านทางการจองตั๋วเครื่องบิน และจำนวนเที่ยวบินในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

รูปที่ 10: นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นภาคสินเชื่อ และผลกระทบต่อดัชนี CSI 300  

Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

ซึ่งแนวโน้มการเปิดประเทศที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงในอนาคตนั้น ยังมีโอกาสถูกหนุนโดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางการจีนเพิ่มเติม ทั้งในแง่ของมาตรการทางการเงิน เช่น การลดการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เพื่อหนุนให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มเติมผ่านการกู้ยืม เมื่อประกอบกับ pent-up demand หรือความต้องการบริโภคที่อัดอั้นมานาน หลังจากต้องเผชิญการล็อกดาวน์ต่อเนื่องมานานกว่า 3 ปี และมาตรการการคลังที่ยังอาจถูกผลักดันได้เพิ่มเติม จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจ และตลาดหุ้นจีนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

รูปที่ 11 : อัตราเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาและและตลาดเกิดใหม่   Source : FINNOMENA, Bloomberg as of 15/12/2022

พร้อมกันนั้น เมื่อพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ที่มีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่ประกาศเงินเฟ้อล่าสุดที่ 1.6%  ส่งผลให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ และจีนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว เพื่อควบคุมเงินเฟ้อทำให้ยังคาดหวังมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจได้หลังจากนี้

รูปที่ 12: ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของ Dollar Index กับประเทศตลาดเกิดใหม่  

Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

นอกจากนั้นแล้วการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูง จากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เริ่มส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยลง ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศตลาดเกิดใหม่ลดลง จะช่วยหนุนผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ ในประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมไปถึงจีนให้มีโอกาส Outperform มากยิ่งขึ้น

Valuation: Zero Yield No More

รูปที่ 13: การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรเอกชนสหรัฐฯ ชนิดต่างๆจากต้นปีเทียนกับปัจจุบัน  

Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

ขณะที่ตราสารหนี้ ซึ่งมูลค่าถูกกดดันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2022 จากการปรับขึ้นอัตราผลตอบแทน (yield) อย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันyield ของพันธบัตรต่างๆ อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยลง ไปจนถึงหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปีหน้า จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ที่ทำให้ตราสารหนี้เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีในปี 2023 ทั้งจาก yield ในระดับที่สูงและการปรับตัวขึ้นของราคา (Capital Gain) จากทิศทางนโยบายการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป

Earnings

 

รูปที่ 14: แนวโน้มการเติบโตของดัชนีหลักหลังการระบาดของ COVID-19 Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

คาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลกเมื่อเทียบกับในอดีตช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยเราตัดช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ Covid-19 เพื่อให้เห็นแนวโน้มการเติบโตระยะยาวที่ผ่านมาได้แม่นยำมากขึ้น ตลาดหุ้นในฝั่งเอเชียมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรต่อหุ้นในระดับที่เหนือกว่าสหรัฐและยุโรป โดยจีน เวียดนาม อินเดีย เป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตโดดเด่นในช่วงปี 2022–2024 ส่วนเกาหลีใต้ และไต้หวันมีแนวโน้มการเติบโตที่ไม่สดใสนักเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียด้วยกัน

รูปที่ 15: แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมหลังการระบาดของ COVID-19 Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

ด้านกลุ่มพลังงานที่กำไรต่อหุ้นเติบโตโดดเด่นที่สุดในปีนี้ ถูกคาดว่าจะชะลอตัวลงในช่วงปี 2022-2024 16% หลังการปรับตัวลงของราคาพลังงาน และคาดการณ์ว่าราคาพลังงานได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ยังถูกคาดการณ์ว่าจะสามารถเติบโตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มหุ้นเติบโต เช่น Consumer Discretionary และ Communication Service ที่ถูกคาดว่ากำไรต่อหุ้นจะเติบโตถึงปีละ 15% ต่อปี

รูปที่ 16: Finnomena Leading Earnings Indicator© (FLEI)  Source: FINNOMENA, Macrobond as of 15/12/2022

เมื่อพิจารณาดัชนีชี้ผลประกอบการ FINNOMENA Leading Earnings indicator© (FLEI) ซึ่งจัดทำโดย FINNOMENA Investment Team ซึ่งเป็นการนำข้อมูลเศรษฐกิจเชิงมหภาคหลากหลายดัชนี มาประกอบกันเพื่อสร้างดัชนีชี้นำผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P 500 พบว่ากำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ในปี 2023 มีโอกาสหดตัวประมาณ 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (year on year) ในช่วงกลางปี 2023 

รูปที่ 17 : การเปลี่ยนแปลงของกำไรต่อหุ้นของดัชนีต่างๆในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย  Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อพิจารณากลับไปตั้งแต่ปี 1997 พบว่า กำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ซึ่งพิจารณาจากดัชนี S&P 500 จะลดลง 15-30% ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ครั้งนี้คาดการณ์กำไรของ S&P 500 นั้นได้ถูกปรับลดลงไปเพียง 6.4% จากจุดสูงสุดเท่านั้น จากการประเมินโดยดัชนี FLEI ทำให้ การถูกปรับลดของกำไรจากจุดสูงสุดอาจมากถึง 10% ภายใน 6 เดือนข้างหน้า

Valuation

รูปที่ 18: Valuation ของดัชนี S&P 500 โดยใช้ CAPE Trailing และ Forward PE  Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

เมื่อพิจารณาถึงความน่าสนใจของตลาดหุ้นหลักอย่าง S&P 500 พบว่า แม้จะผ่านการปรับตัวลงมามากกว่า 19% จากจุดสูงสุดแล้ว แต่ระดับ Valuation เมื่อพิจารณาผ่านทั้ง Forward P/E ที่เป็นการคำนวณบนคาดการณ์กำไรในอนาคต และ Cyclically Adjusted P/E-CAPE ที่เป็น การคำนวณ P/E ในระยะยาวผ่านวัฎจักรเศรษฐกิจและปรับด้วยเงินเฟ้อ พบว่ายังอยู่เหนือค่าเฉลี่ยระยะยาวตั้งแต่มีข้อมูลเล็กน้อย ที่ระดับ +0.5 S.D. ขณะที่เมื่อพิจารณาโดย Trailing P/E ที่เป็นการคำนวณบนกำไรที่เกิดขึ้นแล้วพบว่าดัชนี S&P 500 เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ย ต่างสะท้อน Valuation ที่ไม่ถูกนักเมื่อเทียบกับระดับในอดีต

รูปที่ 19: Valuation ของดัชนี S&P 500 โดยใช้ Earning Yield Gap  Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

ในขณะที่ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนกำไรจากหุ้นกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Earning Yield Gap) พบว่าการใช้นโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นมาในระดับที่สูง กดดันให้ส่วนต่างของผลตอบแทนแคบลง และหมายถึงความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับการลงทุนในพันธบัตรลดลง

รูปที่ 20: Relative Valuation ของดัชนีต่างๆ  Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

ทั้งนี้แม้ว่าสหรัฐฯ จะมี Valuation ที่ยังอยู่ในระดับที่เรายังคิดว่าไม่น่าลงทุน แต่ยังมีโอกาสในตลาดอื่นๆ ทั่วโลกที่ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวย่อลงมาจน Valuation ลงมาอยู่ในระดับที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีในอดีต เช่น ดัชนี VN 30 ของเวียดนาม ดัชนี CSI 300 ของจีน และ ดัชนี MSCI China ที่มีปัจจัยสนับสนุนในระยะสั้น และมีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว 

Technical

รูปที่ 21: AAII, Individual Investor Asset Allocation Survey  Source: FINNOMENA, Macrobond as of 15/12/2022

เรายังติดตามสัญญาณการยอมจำนนของนักลงทุนรายย่อย (capitulation sign) ซึ่งเห็นสัญญาณการลดสัดส่วนการถือครองการลงทุนในหุ้นเมื่อตลาดหุ้นค่อยๆ ปรับตัวลงมา แต่เมื่อเทียบกับวิกฤติครั้งก่อนหน้า สัดส่วนการถือหุ้นยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

รูปที่ 22: Fed News Sentiment Index  Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 14/12/2022

อีกดัชนีที่สามารถสะท้อนมุมมอง (sentiment) ของนักลงทุนได้คือหัวข้อข่าวเศรษฐกิจในแต่ละสภาวะของตลาด ในยามตลาดกระทิงเราจะเห็นแต่ข่าวดีๆ มากกว่าข่าวร้าย กลับกันในช่วงเศรษฐกิจถดถอยหัวข้อข่าวมักเต็มไปด้วยข่าวร้าย ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาณยอมจำนนของนักลงทุนรายย่อย ที่แม้จะปรับตัวลงมาต่ำแล้ว แต่เมื่อเทียบกับระดับใจช่วงเศรษฐกิจถดถอยในอดีตนั้น อาจกล่าวได้ว่า sentiment จากข่าวร้ายยังอาจจะร้ายได้กว่านี้อีก

สรุปมุมมองและภาพรวมกลยุทธ์การลงทุน

รูปที่ 23: FINNOMENA 2023 Outlook  Source : FINNOMENA as of 14/12/2022

โดยสรุป FINNOMENA Investment Team มีมุมมองต่อ 3 ธีมการลงทุนหลักในปี 2023 ดังนี้

“Mild” US Recession” ซึ่งหมายถึงการเดินหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศขนาดเศรษฐกิจอันดับหนึ่งนั้นมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ถดถอยแบบไม่รุนแรง และไม่ทำให้เกิดเป็นวิกฤติลุกลามขนาดใหญ่แต่อย่างใด กลยุทธ์ที่เหมาะสมในครึ่งปีแรกคือการจัดพอร์ตแบบ Defensive มีการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ (ที่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน) และมีเงินสดบ้างเพื่อเตรียมหาโอกาสลงทุนที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี

“China Reopen” หรือแนวโน้มการเปิดเมืองของจีน ที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะตามมาด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมทั้งหลายให้ผ่อนคลายลงมา จะก่อให้เกิดเป็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในหุ้นจีน

“Zero Yield No More” หรือหมดยุคของอัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่สร้างแรงกดดันในปี 2022 นั้น จะกลับมาเป็นปัจจัยที่หนุนการลงทุนในตราสารหนี้ในปี 2023 ซึ่งตราสารหนี้นั้นให้อัตราผลตอบแทน (yield) ที่สูงมากที่สุดในรอบหลายปี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางทั้งหลาย กำลังส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใกล้สิ้นสุดลงทุกที หลังจากเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดเป็นที่เรียบร้อย 

มุมมองสินทรัพย์อื่นๆ

Overweight

รูปที่ 24: Vietnam Total Factor Productivity Contribution to GDP 

Source: FINNOMENA, Bloomberg Economic (BE) Forecast as of 14/12/2022

เวียดนาม 

ถูกกดดันจากปัจจัยลบตลอดทั้งปีที่ผ่านมา และเจอความผันผวนมากที่สุดในช่วงไตรมาส 3/65 ทำให้ดัชนี VN 30 ปรับตัวลงไปทำจุดต่ำสุดกลางเดือนพฤศจิกายนที่ 30.6% ปัจจุบันแรงกดดันจากปัญหาสภาพคล่องตึงตัวในระบบเริ่มมีสเถียรภาพ และแรงกดดันจากค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวหลังค่าเงินดองเริ่มกลับมาแข็งค่า  บวกกับเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาสะสมหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดีราคาถูกในช่วงที่ตลาดปรับตัวย่อลงมาแรง ทำให้ดัชนีดีดกลับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดที่ 23.6% ปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนามยังมี Valuation ถูกที่ระดับ PE 10.5 เท่า หรือเท่ากับ -1.5 SD และแม้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอาจจะกระทบกับภาคการส่งออกในระยะสั้น แต่ศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวยังอยู่ในระดับที่สูง

หุ้น Asia (ex Japan)

หุ้นในกลุ่ม Asia (ex Japan) เช่นเดียวกับภาพรวมหุ้น emerging market  ที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่มีทิศทางอ่อนค่าในปี 2023 และการปรับออกจากนโยบาย Covid Zero ของจีน

Neutral

ไทย

แม้ว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะกลับมาอยู่ที่ 10.5 ล้านคน และหากว่าจีนเปิดประเทศจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์ไว้จะกลับมาอยู่ที่ 22 คนในปีหน้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ แต่เรายังคงมุมมองการลงทุนในหุ้นไทยไว้ที่ระดับ neutral เนื่องจากตลาดได้รับรู้ข้อมูลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไประดับหนึ่งแล้วประกอบ PE ที่ระดับ 18 เท่า ซึ่งถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่ถูกมากนัก

อินเดีย

ตลาดหุ้นอินเดียได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับประมาณการทางเศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่ง โดย GDP Q3/22 เติบโตได้ถึง 6.3%YoY และ PMI ในภาคการผลิตและภาคบริการยังแข็งแกร่ง แต่ด้วย Valuation ที่อยู่ในโซนแพง 12M Trailling PE ที่ 23.8 เท่า หรือ +3.0 SD มองว่ามีความเสี่ยงเรื่อง Price Risk จึงแนะนำมุมมองการลงทุนที่เป็นกลางสำหรับหุ้นอินเดีย

ทองคำ

สมมติฐานหลักของเรามองว่าโอกาสจะเกิด mild recession ทำให้ Dollar Index มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ต่อ แต่จากสถิติในอดีตที่ผ่านมาหลังผ่านช่วง recession มักให้ผลตอบแทนที่ไม่น่าสนใจนัก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับที่สูง ทำให้ real yield ที่อยู่ในระดับที่สูงเป็นอีกปัจจัยกดดันราคาทองคำ จึงแนะนำถือครองเพื่อกระจายความเสี่ยงเท่านั้น

Underweight

ยุโรป

ได้รับแรงกดดันจากวิกฤติราคาพลังงานในช่วงก่อนหน้า ทำให้เงินเฟ้อกดดันการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทั้งนี้แม้ในมุมมองของ ECB วิกฤติราคาพลังงานและเงินเฟ้อใกล้จะผ่านจุดสูงสุด จากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วในเดือนที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจยุโรปยังมีโอกาสในการเกิด recession ถึง 90%  ทำให้มีความน่าสนใจลงทุนต่ำ

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (ultra-loose monetary policy) สวนทางธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกที่ใช้นโยบายแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ปรับตัวกว้างขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลทำให้เงินเยนปรับตัวย่อลงมากที่สุดในรอบกว่า 40 ปี จึงมีความเสี่ยงในเรื่องนโยบายทางการเงิน อีกทั้งสังคมผู้สูงอายุเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะยาว ทำให้มีความน่าสนใจลงทุนต่ำ

Global REITs และ Thai REITs

อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นทั้งไทยและสหรัฐส่งผลให้ความน่าสนใจของ REITs ในเชิง valuation ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตร โดย Global REITs มี yield spread อยู่ที่ระดับ -1.5 SD ซึ่งอยู่ในระดับที่แพง

ด้าน REITs ไทยแม้เห็นเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว แต่ yield ของ REITs ที่ปรับตัวขึ้นช้ากว่าพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ spread แคบลง และความน่าสนใจ REITs ไทยลดลง

FINNOMENA Portfolio Recommendation

GAR (Global Absolute Return)

  • แนะนำลดสัดส่วนการลงทุน KFSPLUS 5% 
  • แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน KT-Ashares-A 5%

ท่าทีผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของทางการจีน ส่งสัญญาณเชิงบวกต่อความเป็นไปได้ในการเปิดเมืองที่มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนซึ่งปรับตัวลงอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีความน่าสนใจ 

FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุน KT-Ashares-A 5% เพื่อรับโอกาสการฟื้นตัวจากแนวโน้มดังกล่าว พร้อมกันนั้น GAR ยังมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และสภาพคล่องอย่าง KFSPLUS นั้นพร้อมต่อการปรับเข้าสู่สินทรัพย์อื่นๆ

ทำให้หาก FINNOMENA Investment Team ประเมินว่าความเสี่ยงลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อไหร่ พอร์ตจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงเป้าหมายในอนาคต

GIF (Global Income Focus)

GIF มีความผันผวนที่ต่ำเมื่อเทียบกับภาวะการลงทุนโดยรวมทั่วโลก อีกทั้งยังสามารถสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอได้ แต่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 3-5% เล็กน้อย 

อย่างไรก็ตามสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และสภาพคล่องอย่าง KFSPLUS นั้นพร้อมต่อการปรับเข้าสู่สินทรัพย์อื่นๆ ทำให้หาก FINNOMENA Investment Team ประเมินว่าความเสี่ยงลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อไหร่ พอร์ตจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงเป้าหมายทั้งกระแสเงินสด และเงินต้น บนความเสี่ยงที่เหมาะสม จึงยังแนะนำคงสัดส่วนการลงทุน

GCP (Global Conservative Port)

นับตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา GCP ได้ลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นโดยตรงแล้ว จากมุมมองการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ปัจจุบันนั้น GCP มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโดยรวมแล้ว

อีกทั้งยังมีสินทรัพย์ปลอดภัยสภาพคล่องสูงอย่างตราสารหนี้ถึง 50% ทำให้หาก FINNOMENA Investment Team ประเมินว่าความเสี่ยงลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อไหร่ พอร์ตจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันต่อสถานการณ์ จึงยังแนะนำคงสัดส่วนการลงทุน

All Balance

All Balance ซึ่งเป็นพอร์ตการลงทุนแบบ Strategic Asset Allocation ที่จัดสัดส่วนการลงทุนด้วย  Black-Litterman Model หัวใจของ FINNOMENA Robo-Advisor ที่ผสมผสานระหว่างโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ช่วยคำนวณค่าสถิติในอดีตกับมุมมองการลงทุนในอนาคตจากผู้แนะนำการลงทุนถือครองสัดส่วนหุ้นในระดับ 45% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตามนโยบายการการลงทุนแล้ว

เมื่อประกอบกับการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่นอย่าง ตราสารหนี้ ทองคำ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมลงมาอีกบางส่วนนั้นมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว  FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำคงสัดส่วนการลงทุน 

RIS (Retirement Income Solution)

RIS มีความผันผวนที่ต่ำเมื่อเทียบกับภาวะการลงทุนโดยรวมทั่วโลก อีกทั้งยังสามารถสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอได้ แต่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 3-3.5% เล็กน้อย 

พร้อมด้วยสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และมีสภาพคล่องสูงอย่าง KFSPLUS นั้นพร้อมต่อการปรับเข้าสู่สินทรัพย์อื่นๆ ทำให้หาก FINNOMENA Investment Team ประเมินว่าความเสี่ยงลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อไหร่ พอร์ตจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงเป้าหมายทั้งกระแสเงินสด และเงินต้น บนความเสี่ยงที่เหมาะสม จึงยังแนะนำคงสัดส่วนการลงทุนต่อ

GGG (Next-Generation Global Growth)

GGG ซึ่งเป็นพอร์ตที่แนวทางลงทุนหุ้น 100% ตลอดเวลา กระจายการลงทุนหลากหลายธีม ประเทศ และใช้ Min.Volatility Optimization เป็นแนวทางในการจัดสรรน้ำหนักเพื่อลดความเสี่ยง ได้ถูกตรวจสอบทั้งในเชิงโมเดลการลงทุน และ กองทุนรวมที่ถือครอง ซึ่งยังคงมีความเหมาะสมกับสถานการณ์การลงทุนปัจจุบัน FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำคงสัดส่วนการลงทุนเดิม

—————————————————————————————————————————

คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัว ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของ พอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT

แท็ก:

AdvanceAll balanceAll Balance PortfolioArticleFINNOMENA PORTFINNOMENA PORT StrategyGARGCPGIFLong ContentPORT StrategyProduct InfoRISTop5

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

flow chart แสดงขั้นตอนการปฏิบัติงาน lmyour แปลภาษา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ การเขียน flowchart โปรแกรม ตัวรับสัญญาณ wifi โน๊ตบุ๊คหาย ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน ผู้แต่งกาพย์เห่ชมไม้ ภูมิปัญญาหมายถึง มีสัญญาณ wifi แต่เชื่อมต่อไม่ได้ เชื่อมต่อแล้ว ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ /roblox promo code redeem 3 พระจอม มีที่ไหนบ้าง AKI PLUS รีวิว APC UPS APC UPS คือ Adobe Audition Adobe Bridge Anapril 5 mg Aqua City Odaiba Arcade Stick BMW F10 jerk Bahasa Thailand Benz C63 ราคา Bootstrap 4 Bootstrap 4 คือ Bootstrap 5 Brackets Brother Scanner Brother iPrint&Scan Brother utilities Burnt HD C63s AMG CSS เว้น ช่องว่าง CUPPA COFFEE สุราษฎร์ธานี Cathy Doll หาซื้อได้ที่ไหน Clock Humidity HTC-1 ColdFusion Constitutional isomer Cuppa Cottage เจ้าของ Cuppa Cottage เมนู Cuppa Cottage เวียงสระ DMC DRx จ่ายปันผลยังไง Detroit Metal City Div class คือ Drastic Vita