เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

             ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้สถาปนาการบริหารยึดครองในออสเตรีย และเยอรมนี ออสเตรียนั้นได้กลายมาเป็นรัฐ ที่เป็นกลางทางการเมือง โดยไม่อิงกับกลุ่มการเมืองใด ๆ ส่วนเยอรมนีนั้นถูกแบ่งออกเป็นเขตยึดครองฝั่งตะวันตก และตะวันออก ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมโดยฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก และสหภาพโซเวียตตามลำดับ โครงการขจัดความเป็นนาซี (Denazification) ในเยอรมนีได้นำไปสู่การฟ้องอาชญากรสงครามนาซี และการปลดอดีตผู้นำนาซีลงจากอำนาจ แต่ต่อมา นโยบายนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นการนิรโทษกรรม และการยอมรับอดีตนาซี เข้ากับสังคมเยอรมนีตะวันตกอีกครั้ง เยอรมนีสูญเสียพื้นที่ไปหนึ่งในสี่จากพื้นที่ เมื่อ ค.ศ. 1937 พื้นที่ทางตะวันออก ได้แก่ ไซลีเซีย นอยมาร์ค และส่วนใหญ่ของพอเมอเรเนีย ถูกผนวกเข้ากับโปแลนด์ ปรัสเซียตะวันออก ถูกแบ่งระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียต ตามด้วยการขับไล่ชาวเยอรมัน 9 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ เช่นเดียวกับชาวเยอรมัน 3 ล้านคนออกจากซูเดเตนแลนด์ในเชโกสโลวาเกียไปยังเยอรมนี ภายในคริสต์ทศวรรษ 1950 ชาวเยอรมันตะวันตก หนึ่งในห้าคนเป็นผู้ลี้ภัยมาจากทางตะวันออก สหภาพโซเวียตยังได้ยึดครองจังหวัดของโปแลนด์ ที่อยู่ทางตะวันออกของเส้นเคอร์ซอน ซึ่งชาวโปแลนด์กว่า 2 ล้านคนถูกขับไล่ออกมาด้วย การยึดครองนี้รวมไปถึงโรมาเนียตะวันออก บางส่วนของฟินแลนด์ตะวันออก และรัฐบอลติกทั้งสาม
             ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น ด้วยความพยายามที่จะรักษาสันติภาพทั่วโลก โดยมีผลอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 และปรับใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในปี ค.ศ. 1948 อันเป็นมาตรฐานสามัญซึ่งทุกชาติสมาชิกจะต้องบรรลุ ความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธมิตรตะวันตก และสหภาพโซเวียตได้เสื่อมลงตั้งแต่ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะจบลงแล้ว และชาติอภิมหาอำนาจแต่ละฝ่าย ต่างก็เริ่มสร้างเขตอิทธิพลของตนเองอย่างรวดเร็ว ทวีปยุโรปได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ด้วยอิทธิพลของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก และสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "ม่านเหล็ก" ซึ่งได้ลากผ่านประเทศเยอรมนี และประเทศออสเตรีย สหภาพโซเวียตได้สร้างค่ายตะวันออกขึ้น โดยการผนวกดินแดนหลายประเทศ ซึ่งถูกยึดครองอยู่ในลักษณะของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ซึ่งเดิมจะต้องผนวกรวมเข้ากับเยอรมนี ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ อย่างเช่น โปแลนด์ตะวันออก รัฐบอลติกทั้งสาม บางส่วนของฟินแลนด์ตะวันออก และโรมาเนียตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนรัฐอื่นที่สหภาพโซเวียตยึดครองในระหว่างสงครามก็ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต อย่างเช่น สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนฮังการี สาธารณรัฐสังคมนิยมสโลวัก สาธารณรัฐประชาชนโรมาเนีย สาธารณรัฐประชาชนแอลเบเนีย และเยอรมนีตะวันออกภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียต
             ในทวีปเอเชีย สหรัฐอเมริกาได้เข้ายึดครองญี่ปุ่น และดำเนินการปกครองหมู่เกาะต่าง ๆ ของญี่ปุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ขณะที่สหภาพโซเวียตก็เข้ายึดครองหมู่เกาะซาฮาลินและหมู่เกาะคูริล ส่วนเกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นนั้น ก็ถูกแบ่งแยกและถูกยึดครองโดยสองขั้วอำนาจ จากความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ก่อตั้งพันธมิตรนาโต้ และทางสหภาพโซเวียตก็ได้ก่อตั้งสนธิสัญญาวอร์ซอขึ้น ทั้งสององค์การทางทหารนี้อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น
             หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไม่นาน เกิดเหตุการณ์เกาหลีเหนือบุกครองเกาหลีใต้ขึ้น ระหว่างเกาหลีเหนือซึ่งได้รับการหนุนหลังโดยจีนและสหภาพโซเวียต กับเกาหลีใต้ภายใต้ความช่วยเหลือของสหประชาชาติ ซึ่งทึ่สุดแล้วจบลงด้วยการเสมอกันและสัญญาหยุดยิง หลังจากนั้น ผู้นำเกาเหลีเหนือ คิม อิลซอง ได้สร้างรูปแบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างมาก รวมทั้งก่อให้เกิดลัทธิบูชาบุคคลอันน่าเกรงขาม
             หลายประเทศซึ่งถูกชาติตะวันตกยึดครองเป็นอาณานิคม ได้ประกาศเอกราชและแยกตัวออกมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความสูญเสียทรัพยากรของชาติตะวันตก ทำให้อิทธิพลจากภายนอกอ่อนแอลง โดยการแยกตัวดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างสันติในหลายประเทศ ยกเว้นในเวียดนาม มาดากัสการ์ อินโดนีเซีย และแอลจีเรีย ในอีกหลายพื้นที่ในโลก ทำให้เกิดเป็นประเทศใหม่ขึ้นมามากมาย ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมและศาสนา การประกาศเอกราชที่โดดเด่นมาก คือ ปาเลสไตน์ในอาณัติอังกฤษ อันนำไปสู่การก่อตั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ และในอินเดียก็เกิดการแตกออกเป็นสองประเทศ คือ อินเดียและปากีสถาน
             ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองมีความแตกต่างกันในหลากหลายภูมิภาคของโลก และพบว่าในหลายประเทศมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในทางบวก เช่น เยอรมนีตะวันตก ซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนอยู่ในสถานะก่อนสงครามได้ในคริสต์ทศวรรษ 1950 อิตาลี ซึ่งออกจากสงครามด้วยสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ในคริสต์ทศวรรษ 1950 เศรษฐกิจของอิตาลีก็มีอัตราการเติบโตสูงและมีเสถียรภาพ สหราชอาณาจักรออกจากสงครามด้วยเศรษฐกิจตกต่ำเช่นกัน แต่สภาพทางเศรษฐกิจของอังกฤษ ยังคงถดถอยอีกเป็นเวลากว่าทศวรรษ ฝรั่งเศสก็มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างรวดเร็วเช่นกัน และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงและมีการดำเนินตามสมัยนิยม สหภาพโซเวียตก็มีอัตราการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังสงคราม และญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการเติบโจทางเศรษฐกิจสูงมาก จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 จีน ซึ่งเป็นประเทศล้มละลาย จากผลของสงครามกลางเมือง แต่ในปี ค.ศ. 1953 เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว และมีอัตราการผลิตกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาที่มีผลผลิตทางอุตสาหกรรมคิดเป็นครึ่งหนึ่งของโลก แต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็ถดถอยอย่างหนัก

ความสูญเสียและอาชญากรรมสงคราม

             ได้มีการประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่สองไว้อย่างหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ได้เสนอว่าคิดเป็นจำนวนมากกว่า 60 ล้านคน ประกอบไปด้วยทหารอย่างน้อย 22 ล้านคน และพลเรือนอย่างน้อย 40 ล้านคน สาเหตุเสียชีวิตของพลเรือนส่วนใหญ่นั้นมาจากโรคระบาด การอดอาหาร การฆ่าฟัน และการทำลายพืชพันธุ์ ด้านสหภาพโซเวียตสูญเสียประชากรราว 27 ล้านคนระหว่างช่วงสงคราม คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของความสูญเสียทั้งหมดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
             จากความสูญเสียร้อยละ 85 เป็นของฝ่ายสัมพันธมิตร (ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและชาวโซเวียต) และร้อยละ 15 เป็นของฝ่ายอักษะ มีการประมาณว่ามีพลเรือนราว 12 ล้านคนเสียชีวิตในค่ายกักกันนาซี 1.5 ล้านคนจากการทิ้งระเบิด และสาเหตุอื่นๆ ในยุโรปอีก 7 ล้านคน รวมไปถึงอีก 7.5 ล้านคนในจีน โดยเหตุการณ์ที่โด่งดัง ได้แก่ การสังหารหมู่ที่นานกิง โดยสาเหตุที่ตัวเลขความสูญเสียมีความแตกต่างกันมากนั้นมีสาเหตุมาจากว่าการตายส่วนใหญ่ไม่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้
             จำนวนการเสียชีวิตจำนวนมากเป็นผลมาจากการล้างชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนภายใต้การยึดครองของฝ่ายอักษะ และอาชญากรรมสงครามอื่น ๆ ซึ่งถูกกระทำโดยชาวเยอรมันและชาวญี่ปุ่น โดยเหตุการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีของอาชญากรรมสงครามชาวเยอรมัน ได้แก่ ฮอโลคอสต์ ซึ่งเป็นการล้างชาติอย่างเป็นระบบในเขตยึดครองของเยอรมนีและพันธมิตร โดยนอกจากชาวยิวแล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มความคิดอื่น ๆ ถูกสังหารอีกเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านคน และด้านทหารญี่ปุ่นก็ได้สังหารพลเรือนราว 3 - 10 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ระหว่างสงครามโลกครั้งทีสอง
             นอกจากนั้น เรื่องของการใช้อาวุธชีวภาพและอาวุธเคมียังได้ถูกนำมาตัดสินด้วย ทหารอิตาลีได้ใช้แก๊สมัสตาร์ดในการบุกครองเอธิโอเปีย ส่วนญี่ปุ่นได้ใช้อาวุธดังกล่าวในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง และในสงครามชายแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น โดยทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นได้มีการทดลองอาวุธกับพลเรือนและเชลยสงครามจำนวนมาก
             ขณะที่การตัดสินคดีความอาชญากรรมสงครามของฝ่ายอักษะถูกชำระความในศาลชำระความระหว่างประเทศแห่งแรก แต่ว่าอาชญากรรมของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับตรงกันข้าม ตัวอย่างอาชญากรรมสงคราม เช่น การถ่ายเทพลเรือนในสหภาพโซเวียต ค่ายใช้แรงงานของโซเวียต การกักกันชาวญี่ปุ่น-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติการคีลฮาล (Operation Keelhaul) การขับไล่ชาวเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การข่มขืนระหว่างการยึดครองเยอรมนี การสังหารหมู่คาตินของสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ ในสงครามยังมีผู้เสียชีวิตเป็นอันมากจากทุพภิกขภัย เช่น ทุพภิกขภัยแคว้นเบงกอล ค.ศ. 1943 และทุพภิกขภัยเวียดนาม ค.ศ. 1944-45
             นักประวัติศาสตร์บางคนเสนอว่า การทิ้งระเบิดขนานใหญ่ในเขตพลเรือนในดินแดนข้าศึกของสัมพันธมิตรตะวันตก รวมทั้งโตเกียว และที่โดดเด่นที่สุดคือ นครเดรสเดิน ฮัมบูร์ก และโคโลญของเยอรมนี อันเป็นผลให้นครกว่า 160 แห่งถูกทำลายล้าง และพลเรือนชาวเยอรมันเสียชีวิตกว่า 600,000 คน ควรถูกพิจารณาว่าเป็นอาชญากรรมสงครามด้วย

ค่ายกักกันและการใช้แรงงานทาส

นักโทษผู้ทรมานในค่ายกักกันเมาน์ธิวเซน-กูเซน ประเทศออสเตรีย ในปี ค.ศ. 1945

             ฮอโลคอสต์ได้สังหารชาวยิวในทวีปยุโรปเป็นจำนวนอย่างน้อย 6 ล้านคน รวมไปถึงเชื้อชาติอื่น ๆ อีกที่ถูกพวกนาซีลงความเห็นว่าเป็นพวกที่ "ไม่คู่ควร" หรือ "ต่ำกว่ามนุษย์" (รวมไปถึงผู้ที่ทุพพลภาพ ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต เชลยสงครามโซเวียต พวกรักร่วมเพศ สมาคมฟรีเมสัน ผู้นับถือลัทธิพยานพระเยโฮวาห์และชาวยิปซี) โดยเป็นส่วนหนึ่งของถอนรากถอนโคนอย่างจงใจ และได้รับการดำเนินการโดยรัฐบาลฟาสซิสต์นาซี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีกรรมกรและคนงานราว 12 ล้านคน ซึ่งโดยส่วนมากมาจากยุโรปตะวันออก ได้ถูกว่าจ้างให้มาทำงานให้เศรษฐกิจสงครามของนาซีเยอรมนี
             นอกเหนือจากค่ายกักกันของนาซีแล้ว ยังมีค่ายกูลักหรือค่ายแรงงานของสหภาพโซเวียต ซึ่งได้นำไปสู่ความตายของพลเรือนจำนวนมากในดินแดนยึดครองของฝ่ายนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ได้แก่ โปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย รวมไปถึงเชลยสงครามของเยอรมนี และยังมีชาวโซเวียตบางส่วนที่คาดว่าเป็นผู้สนับสนุนของฝ่ายนาซี จากหลักฐานพบว่าเชลยสงครามของโซเวียตกว่า 60% ของทั้งหมดได้เสียชีวิตระหว่างสงคราม ริชาร์ด โอเวรีได้บันทึกตัวเลขเชลยศึกชาวโซเวียตไว้ 5.7 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ 57% เสียชีวิต คิดเป็น 3.6 ล้านคน เชลยศึกโซเวียตที่รอดชีวิตและหลบหนีเข้าสู่มาตุภูมิจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ

ศพคนตายกองทับซ้อนกันในค่าย 731 ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยพัฒนาอาวุธชีวภาพของญี่ปุ่น

             ค่ายเชลยสงครามของญี่ปุ่นเองก็มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังมีการตั้งเป็นค่ายแรงงาน ภายหลังจากการตัดสินของศาลทหารพิเศษนานาชาติแห่งภาคพื้นตะวันออกไกล (เดิมชื่อ ศาลพิเศษโตเกียว) ได้ลงมติว่าอัตราการเสียชีวิตของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรคิดเป็น 27.1% (ในจำนวนนี้เป็นทหารสหรัฐอเมริกา 37%) คิดเป็นเจ็ดเท่าของอัตราเดียวกันของค่ายแรงงานของนาซีเยอรมนีและอิตาลี แต่จำนวนดังกล่าวนั้นมีสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชลยศึกชาวจีน ซึ่งจากคำสั่งที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1937 โดยจักรพรรดิฮิโรฮิโตได้ระบุว่า ชาวจีนไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายระหว่างประเทศ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารสหราชอาณาจักรได้รับการปล่อยตัว 37,853 นาย ทหารเนเธอร์แลนด์ 28,500 นาย ทหารสหรัฐอเมริกา 14,473 นาย แต่พบว่าทหารจีนถูกพบว่าได้รับการปล่อยตัวเพียง 56 นาย
             อ้างอิงจากการศึกษาร่วมกันของนักประวัติศาสตร์ ได้สรุปว่า มีชาวจีนมากกว่า 10 ล้านคนถูกเกณฑ์โดยกองทัพญี่ปุ่น และถูกใช้แรงงานอย่างทาส เพื่อวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา ทั้งในแมนจูกัวและทางภาคเหนือของประเทศจีน ห้องสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประมาณว่าในเกาะชวาว่าชาวอินโดนีเซียกว่า 4 ถึง 10 ล้านคนต้องถูกบังคับให้ทำงานแก่กองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงคราม ชาวอินโดนีเซียบนเกาะชวากว่า 270,000 คนได้ถูกส่งไปทำงานในดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองอยู่ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีเพียง 52,000 คนเท่านั้นที่สามารถกลับคืนสู่ถิ่นเดิมได้
             เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ประธานาธิบดีโรสเวลต์ได้ลงนามในแผนการหมายเลข 9066 ซึ่งได้ทำการกักตัวชาวญี่ปุ่น ชาวอิตาลี ชาวเยอรมัน และผู้อพยพบางส่วนจากหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งหลบหนีหลังจากการโจมตีที่ฐานทัพเรือเพิร์ลในช่วงเวลาระหว่างสงครามเป็นจำนวนมาก ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันถูกกักตัวโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นจำนวนกว่า 150,000 คน รวมไปถึงชาวเยอรมันและชาวอิตาลีซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเกือบ 11,000 คน
             ขณะเดียวกัน ก็การใช้แรงงานโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในดินแดนตะวันออก อย่างเช่นในโปแลนด์ แต่ยังมีผู้ใช้แรงงานอีกกว่าล้านคนในตะวันตก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1945 หลักฐานของฝรั่งเศสได้ระบุว่ามีเชลยสงครามชาวเยอรมันกว่า 2,000 คน ตายหรือพิการทุกเดือนในอุบัติเหตุการเก็บกวาดทุ่นระเบิด

แนวหลังและอุตสาหกรรม

             ในทวีปยุโรป ช่วงสงครามเริ่มขึ้นใหม่ ๆ นั้นฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นมีความได้เปรียบทั้งทางด้านจำนวนประชากรและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในปี 1938 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีประชากรมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% และอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าฝ่ายอักษะ 30% ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปรียบทางยุทธศาสตร์มากกว่า 5:1 ในด้านจำนวนประชากรและอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็น 2:1
             ในทวีปเอเชีย จีนนั้นมีประชากรเป็นหกเท่าของญี่ปุ่น และมีอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่าญี่ปุ่นไป 89% แต่ถ้าหากรวมเอาอาณานิคมของญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ความแตกต่างของจำนวนประชากรจะลดลงเหลือเพียงสามเท่าและความก้าวหน้าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลงเหลือ 38%
             แม้ความแตกต่างระหว่างทั้งสองฝ่ายจะมีมาก แต่ฝ่ายอักษะก็สามารถตัดกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้ด้วยบลิทซครีกของเยอรมนีและญี่ปุ่นหลายครั้ง ทว่าความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและประชากรของฝ่ายสัมพันธมิตรได้กลายมาเป็นปัจจัยแตกหักจนถึง ค.ศ. 1942 หลังสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเข้าสู่สงคราม โดยสงครามได้เปลี่ยนไปเป็นสงครามแห่งความสูญเสีย ช่วงปลายสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถช่วงชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจได้ด้วยการเข้ายึดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ความไม่เต็มใจของเยอรมนีและญี่ปุ่นที่จะเกณฑ์แรงงานสตรี และการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสงครามในตอนปลาย เยอรมนีและญี่ปุ่นนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เตรียมการอย่างเหมาะสมสำหรับสงครามยืดเยื้อและไม่มีขีดความสามารถใด ๆ เลยที่จะทำเช่นนั้น เพื่อที่จะเพิ่มการผลิต เยอรมนีและญี่ปุ่นจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากประเทศที่ตนเองสามารถยึดครองได้มาใช้แรงงานนับล้าน โดยพบว่าเยอรมนีได้มีการใช้แรงงานทาสกว่า 12 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยุโรปตะวันออก และญี่ปุ่นได้มีการใช้แรงงานทาสเอเชียตะวันออกไกลกว่า 18 ล้านคน

ดินแดนที่ถูกยึดครองระหว่างสงคราม

             ในทวีปยุโรป การยึดครองแบ่งออกเป็นสองประเภท สำหรับยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ และยุโรปกลาง เยอรมนีได้ออกนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งได้ผลตอบแทนกว่า 69.5 ล้านล้านไรช์มาร์กจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม ซึ่งยังไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยุทโธปกรณ์ทางทหาร วัตถุดิบและสินค้าอื่น ๆ ซึ่งเรียกกันว่า การปล้นของนาซี (Nazi plunder) รายได้ของนาซีเยอรมนีในดินแดนยึดครองนั้นคิดเป็นกว่าร้อยละ 40 ของรายได้จากภาษีในแผ่นดินเยอรมนี และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมดของเยอรมนีในช่วงระหว่างสงคราม
             ส่วนทางยุโรปตะวันออก ซึ่งคนทั้งหลายต่างก็หวังต่อผลประโยชน์จากนโยบายแสวงหาพื้นที่อยู่อาศัยไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแนวรบซึ่งไม่แน่นอน และผลจากนโยบาย "Scorched earth" ของโซเวียต ซึ่งเป็นการปฏิเสธมิให้ทรัพยากรทั้งหลายตกอยู่ในเงื้อมมือของชาวเยอรมัน ไม่เหมือนกับทางยุโรปตะวันตก นโยบายเชื้อชาติของพรรคนาซีนั้นได้ก่อให้เกิดความเลวร้ายต่าง ๆ กับ "ชนชั้นต่ำกว่ามนุษย์" ในแนวรบด้านตะวันออก จึงเต็มไปด้วยการฆาตกรรมและการสังหารหมู่ และถึงแม้ว่าจะมีขบวนการกู้ขาติเกิดขึ้นมากมายในประเทศที่ถูกยึดครอง แต่ก็ยังไม่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบโดยรวมต่อการขยายตัวของนาซีเยอรมนีได้ กระทั่งปลาย ค.ศ. 1943
             ในเอเชีย ญี่ปุ่นพยายามสร้างวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาขึ้น และมีจุดประสงค์ที่จะครองความเป็นใหญ่ โดยอ้างการปลดปล่อยชาติที่ต้องตกเป็นอาณานิคมของชาติอภิมหาอำนาจในทวีปยุโรป ถึงแม้ว่ากองทัพญี่ปุ่นนั้นจะได้รับการต้อนรับจากนักต่อสู้เพื่อเอกราชในหลายดินแดน แต่ว่าเนื่องจากการกระทำที่โหดร้ายได้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อญี่ปุ่นไปเสียภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงแรกนั้นได้รับน้ำมันกว่า 4 ล้านแกลลอนจากการล่าถอยของฝ่ายสัมพันธมิตร และใน ค.ศ. 1943 ญี่ปุ่นได้ผลผลิตจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์กว่า 50 ล้านแกลลอน กว่าร้อยละ 76 ของอัตราการผลิตของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1940

การพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบการทำสงคราม

             ระหว่างสงคราม อากาศยานยังคงดำรงบทบาทของตนทั้งในการลาดตระเวนสำรวจ เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิด และการสนับสนุนภาคพื้นดินมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถึงแม้ว่าอากาศยานทั้งหลายจะได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากแล้ว บทบาทที่สำคัญของอากาศยานอีกสองประการนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ได้แก่ การขนส่งทางอากาศ เป็นความสามารถที่จะเคลื่อนย้ายเสบียง เครื่องยุทธภัณฑ์และหน่วยทหารได้อย่างรวดเร็วตามลำดับความสำคัญ ถึงแม้ว่าจะยังมีปริมาณที่รองรับได้ต่ำอยู่ก็ตาม และการทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการทิ้งระเบิดถล่มเป้าหมายพลเรือนด้วยความหวังที่จะทำลายอุตสาหกรรมและขวัญกำลังใจของข้าศึก อาวุธต่อสู้อากาศยานเองก็มีการพัฒนาขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันภัยที่สำคัญ เช่น เรดาร์ และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างสูง อย่างเช่น ปืนใหญ่ 88 มม. ของเยอรมนี อากาศยานเจตก็ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในการออกปฏิบัติการจำนวนหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และถึงแม้ว่าอากาศยานเจตจะถูกนำเข้าสู่สงครามในตอนปลาย และปรากฏให้เห็นเพียงจำนวนน้อย หมายความว่าพวกมันไม่มีผลกระทบต่อสงครามโดยตรงด้วยตัวเอง และจำนวนน้อยถูกพบเห็นในการบริการขนส่งขนาดใหญ่หลังจากสงคราม
             ส่วนในทะเล ในขณะที่การพัฒนาเกิดขึ้นในการทำสงครามทางทะเลในเกือบทุกรูปแบบ แต่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือดำน้ำ ถึงแม้ว่าในตอนต้นของสงคราม การทำสงครามการบินประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่ปฏิบัติการในตารันโต อ่าวเพิร์ล ทะเลจีนใต้ และทะเลคอรัล ได้ทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินก้าวขึ้นมากมีบทบาทสำคัญแทนที่เรือประจัญบาน ในมหาสมุทรแอตแลนติก เรือบรรทุกเครื่องบินถูกพิสูจน์แล้วว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในระบบกองเรือคุ้มกันฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ประสิทธิภาพรัศมีในการป้องกันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมีส่วนช่วยในการอุดช่องว่างแอตแลนติกตอนกลาง นอกเหนือจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรือบรรทุกเครื่องบินยังประหยัดกว่าเรือประจัญบานเนื่องจากเครื่องบินมีราคาต่ำ และลำเรือไม่จำเป็นจะต้องหุ้มเกราะหนา เรือดำน่ำ ซึ่งถูกพิสูจน์ว่าเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยทุกฝ่ายว่าจะมีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายอังกฤษมุ่งเน้นไปยังอุปกรณ์และยุทธวิธีในการต่อสู้เรือดำน้ำ อย่างเช่น โซนาร์ และระบบกองเรือคุ้มกัน ในขณะที่เยอรมนีมุ่งเน้นไปยังการพัฒนาความสามารถในการรุก ด้วยการออกแบบเรือดำน้ำไทป์ 7 และยุทธวิธีฝูงหมาป่า และการพัฒนาเทคโนโลยีของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างช้า ๆ ก็ได้พิสูจน์ถึงชัยชนะ
             ส่วนรูปแบบการรบภาคพื้นดินได้เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากแนวรบอยู่กับที่ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เปลี่ยนมาเป็นการรบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นแนวคิดมาจากรูปแบบการทำสงครามระหว่างเหล่าทัพ ซึ่งเป็นการประสานงานกันระหว่างคุณสมบัติของกองกำลังทหารที่หลากหลาย รถถัง ซึ่งถูกใช้สนับสนุนทหารราบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้พัฒนาจนกลายมาเป็นอาวุธพื้นฐานของกองกำลังทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 การออกแบบรถถังได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากในทุกด้าน เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และยังได้มีการพัฒนาความเร็ว เกราะและกำลังยิงที่เพิ่มมากขึ้น ยังได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระหว่างสงคราม ในช่วงแรกของสงคราม กองทัพส่วนใหญ่พิจารณาว่ารถถังเป็นอาวุธที่ดีที่สุดในการต่อสู้รถถังด้วยกัน จึงได้พัฒนารถถังที่มีจุดประสงค์พิเศษขึ้นเพื่อบรรลุผลนั้น แต่แนวคิดดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ว่าผิดในการปฏิบัติของรถถังค่อนข้างเบาในช่วงแรกในการต่อกรกับรถถัง และหลักนิยมของเยอรมันในการหลีกเลี่ยงการรบแบบรถถังต่อรถถัง และอีกปัจจัยนหนึ่ง จากการใช้กองกำลังผสมของเยอรมนี อันเป็นปัจจัยหลักของยุทธวิธีการโจมตีสายฟ้าแลบซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในโปแลนด์และฝรั่งเศส และปรากฏหลายวิธีในการทำลายรถถัง รวมทั้งปืนใหญ่ทางอ้อม ปืนต่อสู้รถถัง ทุ่นระเบิด อาวุธพิสัยใกล้ต่อสู้รถถังสำหรับทหารราบ และการใช้รถถังได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ แม้กระทั่งในหลายกองทัพจะได้มีการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรอย่างกว้างขวาง แต่ทหารราบก็ยังคงเป็นกระดูกสันหลังสำหรับกองกำลังทั้งหมด และตลอดช่วงเวลาของสงคราม ยุทธภัณฑ์ของทหารราบส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกับที่เคยใช้ประโยชน์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
             สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่มีการใช้ปืนเล็กยาวกึ่งอัตโนมัติเป็นประเทศแรก ซึ่งก็คือ เอ็ม-1 กาแรนด์ นอกจากนี้ การพัฒนาบางประการยังเกี่ยวกับปืนกลพกพาได้ ตัวอย่างที่โดดเด่นเช่น เอ็มจี 42 ของเยอรมนี และปืนกลมืออีกหลายประเภท ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับการรบในเมืองและในป่า ปืนเล็กยาวจู่โจม ซึ่งเป็นพัฒนาการในตอนปลายของสงคราม เป็นการรวมข้อดีของปืนเล็กยาวและปืนกลมือเข้าไว้ด้วยกัน และได้กลายมาเป็นอาวุธพื้นฐานสำหรับทหารราบในเกือบทุกกองทัพหลังสงคราม
             ในแง่ของการติดต่อสื่อสาร ผู้เข้าร่วมสงครามส่วนใหญ่พยายามที่จะแก้ไขปัญหาของความซับซ้อนและการรักษาความปลอดภัย โดยการใช้ประโยชน์จากคู่มือลงรหัสขนาดใหญ่สำหรับวิทยาการเข้ารหัส ประกอบกับการสร้างเครื่องรหัสขึ้นมาหลายแบบ ซึ่งที่เป็นรู้จักกันกว้างขวางที่สุด ได้แก่ เครื่องอินิกมาของเยอรมนี ข่าวกรองทางสัญญาณ ซึ่งเป็นกระบวนการตอบโต้เครื่องถอดรหัส ซึ่งตัวอย่างที่โดดเด่น ได้แก่ อัลตราของอังกฤษ และการถอดรหัสกองทัพเรือญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนอีกทิศทางหนึ่งที่สำคัญของข่าวกรองทางทหาร ได้แก่ การใช้ปฏิบัติการการหลอกลวง ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรได้ประสบความสำเร็จในหลายโอกาสจนได้ผลดี อย่างเช่น ปฏิบัติการเนื้อสับและปฏิบัติการบอดีการ์ด นอกจากนี้ ในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมยังได้แก่ คอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถโปรแกรมได้เป็นครั้งแรก (แซด 3 คอมพิวเตอร์โคลอสซัสและอีนิแอก) ขีปนาวุธนำวิถี และจรวดสมัยใหม่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อันเป็นผลมาจากโครงการแมนฮัตตัน การสร้างท่าเรือประดิษฐ์ และการสร้างท่อน้ำมันลอดผ่านช่องแคบอังกฤษ

//th.wikipedia.org/wiki/สงครามโลกครั้งที่สอง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

flow chart แสดงขั้นตอนการปฏิบัติงาน lmyour แปลภาษา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ การเขียน flowchart โปรแกรม ตัวรับสัญญาณ wifi โน๊ตบุ๊คหาย ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน ผู้แต่งกาพย์เห่ชมไม้ ภูมิปัญญาหมายถึง มีสัญญาณ wifi แต่เชื่อมต่อไม่ได้ เชื่อมต่อแล้ว ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ /roblox promo code redeem 3 พระจอม มีที่ไหนบ้าง AKI PLUS รีวิว APC UPS APC UPS คือ Adobe Audition Adobe Bridge Anapril 5 mg Aqua City Odaiba Arcade Stick BMW F10 jerk Bahasa Thailand Benz C63 ราคา Bootstrap 4 Bootstrap 4 คือ Bootstrap 5 Brackets Brother Scanner Brother iPrint&Scan Brother utilities Burnt HD C63s AMG CSS เว้น ช่องว่าง CUPPA COFFEE สุราษฎร์ธานี Cathy Doll หาซื้อได้ที่ไหน Clock Humidity HTC-1 ColdFusion Constitutional isomer Cuppa Cottage เจ้าของ Cuppa Cottage เมนู Cuppa Cottage เวียงสระ DMC DRx จ่ายปันผลยังไง Detroit Metal City Div class คือ Drastic Vita