พัฒนาการทาง การเมือง สังคมและเศรษฐกิจของทวีปแอฟริกา

สงคราม ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ความรุนแรง ความยากจน คือภาพจำของทวีปแอฟริกา แต่ความเข้าใจและมายาคติเหล่านี้ ตรงกับความเป็นจริงของทวีปแอฟริกาหรือไม่

มรดกอาณานิคมยังคงตกทอดมาถึงแอฟริกาในปัจจุบันหรือไม่ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติยังคุกรุ่นอยู่หรือเปล่า การเมืองเผด็จการครอบครองทวีปแอฟริกาอยู่หรือไม่ การพัฒนาเศรษฐกิจในแอฟริกาเป็นอย่างไรบ้าง แล้วทำไมไทยต้องสนใจทวีปแอฟริกา

101 สนทนากับอาจารย์ ลลิตา หาญวงษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อตอบคำถามข้างต้น พร้อมสาระว่าด้วยการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทวีปแอฟริกาอย่างครบรส ในรายการ 101 One-On-One Ep.155 อ่านแอฟริกา กับ ลลิตา หาญวงษ์ (ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2563)

 

ผ่ามายาคติแอฟริกา

 

เวลาเรานึกภาพแอฟริกา หลายคนมักมีภาพจำว่าทุกประเทศในทวีปแอฟริกาเหมือนกันหมด ราวกับทั้งทวีปคือประเทศเดียว แต่แน่นอนว่าทวีปขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประเทศทั้งหมด 55 ประเทศ ย่อมมีความแตกต่างหลากหลายในหลายมิติ ทั้งระบอบการปกครอง เศรษฐกิจ ชาติพันธุ์ ศาสนา และภาษา

 

ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์

ภาพจำที่คนส่วนมากมีต่อคนแอฟริกันคือ ทุกคนเป็นคนผิวสี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทวีปแอฟริกามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาก และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นับว่าเป็นลักษณะสำคัญของการเมืองสมัยใหม่ของแอฟริกาในยุคหลังอาณานิคม รวมทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนในแอฟริกา

ภาพที่เราเห็นว่าหลายประเทศมีความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง ที่จริงแล้ว ใจกลางของความขัดแย้งทางการเมืองเหล่านั้น ก็มีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เป็นรากฐาน ความขัดแย้งที่รู้จักกันทั่วโลก และรุนแรงมากจนความขัดแย้งยกระดับไปถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบ คือเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ซึ่งมูลเหตุของความขัดแย้งนั้นพัฒนามาจากความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์ คือ กลุ่มฮูตู (ชนกลุ่มใหญ่) และทุตซี (ชนกลุ่มน้อย) ที่ฝังรากลึกมานานตั้งแต่สมัยอาณานิคม อันเนื่องมากจากเจ้าอาณานิคมเบลเยียมปกครองสองกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยความไม่เท่าเทียม จนปะทุกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างสองเผ่าพันธุ์หลังจากการปลดปล่อยอาณานิคม

ความขัดแย้งชุดนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นแค่ในรวันดาเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศข้างเคียงอย่างยูกันดาด้วย จนทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 3 แสนกว่าคน หรืออาจถึง 5 แสนกว่าคนเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่สปอตไลต์ไม่ได้ฉายไปที่ความขัดแย้งในยูกันดามากเท่าความขัดแย้งในรวันดาเท่านั้น

นอกจากนี้ กรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในซูดานใต้ ก็นับว่าเป็นอีกความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ซึ่งเกิดจากกลุ่มคนอาหรับพยายามจะกวาดล้างกลุ่มคนซูดานที่เป็นคนผิวสี อีกกรณีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ ความขัดแย้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ซึ่งเป็นคนละประเทศกับสาธารณรัฐคองโก) รุนแรงมากจนมีคนเสียชีวิตเกือบ 6 ล้านคน

เผด็จการ vs ประชาธิปไตย

หลังจากมีการต่อต้านเจ้าอาณานิคมและเรียกร้องเอกราชโดยขบวนการชาตินิยม ท้ายที่สุดหลายประเทศในแอฟริกาก็มีผู้นำทางการเมืองของตนเอง ปกครองตนเองได้โดยไม่ถูกครอบงำอีกต่อไป

แต่การเลือกใช้ระบบการปกครองก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ภูมิภาคแอฟริกา นับว่าเป็นภูมิภาคที่การเมืองแบบเผด็จการลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนา หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามครองและรักษาอำนาจของตนอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่ประเทศ นี่คือลักษณะสำคัญของการเมืองแบบเผด็จการในแอฟริกา

หนึ่งในผู้นำเผด็จการในแอฟริกาที่มีชื่อเสียงมาก คือ อดีตประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Gabriel Mugabe) ซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการของซิมบับเวที่ครองอำนาจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปี 2017 ก่อนจะถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพ

ไม่เพียงแค่ซิมบับเวเท่านั้น แต่หลายประเทศในแอฟริกาก็ต้องเผชิญกับรัฐประหารบ่อยครั้ง ในหลายประเทศ ทหารมีบทบาทสูงมากในการกำกับ ควบคุม ดูแลทั้งการเมืองและชีวิตของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคแอฟริกาก็มีการเมืองแบบประชาธิปไตยเช่นกัน แต่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบสมบูรณ์แบบ ไม่ได้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใส 100% และการเลือกตั้งมักนำไปสู่การที่มีฝ่ายการเมืองฝ่ายเดียวชนะการเลือกตั้งอยู่ตลอด (competitive authoritarianism) กรณีคลาสสิกที่สุดคือ กรณีของรวันดา หลังจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พอล คากาเม (Paul Kagame) ซึ่งเคยเป็นผู้นำทหารชาวทุตซีได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี เริ่มฟื้นฟูประเทศที่แตกสลายจากสงคราม พัฒนาประเทศโดยมีจุดมุ่งหมายให้ประเทศดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคง ประชาชนกินดีอยู่ดี และมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพแบบสิงคโปร์ จนมีคนตั้งฉายาให้รวันดาเป็น ‘สิงคโปร์แห่งแอฟริกา’

กรณีที่การเมืองประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์แบบเช่นนี้ ไม่ได้เป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงแค่ในแอฟริกาเท่านั้น แต่เป็นปรากฎการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นใน ‘กลุ่มประเทศซีกโลกใต้’ (‘Global South’) ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย หรืออย่างในบราซิลและประเทศละตินอเมริกาอื่นๆ ก็ล้วนแต่มีการเมืองลักษณะเช่นนี้

 

เศรษฐกิจ

แอฟริกาเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่มาก แน่นอนว่าความแตกต่างทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งถูกกำหนดด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ส่วนหนึ่งของทวีปแอฟริกาซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณทะเลทรายซาฮาร่า อย่างเช่นมาลี ไนเจอร์ ซูดาน หรือแชด มีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด เนื่องจากไม่มีทางออกทางทะเล แม้ว่าจะมีความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจก็ตาม

แต่ประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ก็มีทรัพยากรที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะประเทศแถบแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใต้ทะเลทรายซาฮาร่า (Sub-Saharan Africa) โดยประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกาก็นับว่าเป็นกลุ่มประเทศใต้ทะเลทรายซาฮาร่าเช่นกัน แต่ตัวอย่างประเทศที่เราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ ไนจีเรีย เอธิโอเปีย รวันดา หรือแอฟริกาใต้ เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมก็มีเป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจประเทศในทวีปแอฟริกาเป็นอย่างมาก ประสบการณ์ภายใต้อาณานิคมหล่อหลอมและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของแอฟริกาพอสมควร ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก อย่างเซเนกัล แกมเบีย กินี บูกีนาฟาโซ (ชื่อเดิมคืออัปเปอร์วอล์ตา) ไอวอรีโคสต์ (หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า โกตดิวัวร์) ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้กับทวีปยุโรปมากที่สุดและเคยถูกปกครองโดยฝรั่งเศส ก็มีความต่างทางโครงสร้างเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ส่วนประเทศอดีตอาณานิคมอังกฤษก็เต็มไปด้วยประเทศที่เป็นแหล่งทรัพยากรขนาดใหญ่ ประเทศอย่างบอสวานา ซิมบับเว แอฟริกาใต้ หรืออดีตอาณานิคมขนาดใหญ่ซึ่งมีความสำคัญสูงสุดในสหภาพแอฟริกาในปัจจุบันอย่างกานา (สมัยก่อนเรียกว่าประเทศโกลด์โคสต์) ล้วนเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเหมืองทองและเหมืองเพชรในยุคอาณานิคม รวมทั้งเป็นแหล่งปลูกพืชทางเศรษฐกิจ (cash crop) เมื่อประเทศเจ้าอาณานิคมนำวิธีทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้ามาในทวีปอีกด้วย

แม้ว่าเศรษฐกิจแอฟริกาในยุคอาณานิคมจะสร้างความมั่งคั่งให้กับหลายๆ ประเทศจนถึงปัจจุบัน อย่างโกโก้ก็ยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของกานาอยู่จนถึงทุกวันนี้ พืชอย่างยาสูบ ฝ้าย หรือแม้แต่พืชราคาแพงมากอย่างวานิลลา ก็เป็นพืชที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกนำเข้าไปเผยแพร่ในแอฟริกาและในหมู่เกาะทั่วโลก แต่เราไม่สามารถกล่าวได้ว่านี่คือคุณูปการสำคัญของระบอบอาณานิคมที่ทำให้แอฟริกาเจริญเติบโตหรือพัฒนาได้ เพราะแน่นอนว่าการปกครองระบอบอาณานิคมนั้นมาพร้อมกับการกดขี่คนพื้นเมือง ความไม่เท่าเทียมและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่เรื้อรังหลังการปลดปล่อยอาณานิคม อย่างอุตสาหกรรมเหมืองเพชรในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแหล่งขุดเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็สร้างความมั่งคั่งให้กับประชากรคนขาวในแอฟริกาเป็นอย่างมาก จนกระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้งจากการแบ่งแยกสีผิว (apartheid) ในยุคร่วมสมัยกับเนลสัน แมนเดลา หรืออย่างที่เราคุ้นเคยกันดีว่าเจ้าอาณานิคมทั้งชาติยุโรปและสหรัฐฯ ค้าทาสผิวสีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายร้อยปี นำทาสผิวสีเข้าไปเป็นแรงงานในประเทศของตนเอง

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง จุดแข็งอยู่ตรงที่แอฟริกานั้นมีอัตราการเจริญเติบโตของประชากรสูงที่สุดในโลก และยังมีประชากรวัยหนุ่มสาวในสัดส่วนที่มากที่สุดในโลก ในขณะที่มีสัดส่วนประชากรคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเพียง 19%-20% เท่านั้น

มีการประมาณการออกมาว่าในปี 2050 แอฟริกาจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 1,200 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ล้านคน และในปี 2100 จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หมายความว่าแอฟริกาจะมีจำนวนประชากรมากกว่าจีนและอินเดียรวมกัน ศักยภาพเช่นนี้สวนกระแสกับเทรนด์ประชากรโลกซึ่งเกิดน้อยลงเรื่อยๆ และมีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในอนาคตหากจำนวนประชากรในเอเชียลดลง ซึ่งหมายความว่ามีแรงงานน้อยลงไปด้วย แอฟริกาก็อาจกลายเป็นอนาคตทางเศรษฐกิจของโลก

 

สหภาพแอฟริกา

 

หากเปรียบเทียบสหภาพแอฟริกา (African Union) กับการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคในภูมิภาคอื่นอย่างสหภาพยุโรปและอาเซียน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ  การรวมบรรดาประเทศในแอฟริกาเพื่อสร้างความร่วมมือในภูมิภาคแอฟริกานั้นมีจุดเริ่มต้นจากความรู้สึกร่วมระหว่างคนแอฟริกัน หรือที่เรียกว่า ‘ภราดรภาพในหมู่ชาวแอฟริกัน’ (‘African brotherhood’) ว่าแอฟริกาสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ และต้องปลดแอกตนเองจากอิทธิพลของระบอบอาณานิคมที่กดขี่คนแอฟริกันมาอย่างยาวนาน เพื่อให้ภูมิภาคเปี่ยมไปด้วยเอกราช เสรีภาพ และความยุติธรรม ในขณะที่จุดเริ่มต้นในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมของอาเซียนเริ่มต้นมาจากความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น หรือจุดเริ่มต้นของสหภาพยุโรปที่เริ่มจากความต้องการยุติความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนีที่กัดกินสันติภาพในภูมิภาคมายาวนาน

ความรู้สึกร่วมในความเป็นแอฟริกันจึงเป็นฐานในการรวมแอฟริกาในปี 1963 ภายใต้ชื่อ Organization of African Unity หรือ OAU (เปลี่ยนไปใช้ชื่อสหภาพแอฟริกันภายหลังในปี 2002) นำโดยนักชาตินิยมแอฟริกัน 4 คน ซึ่งนักชาตินิยมที่โดดเด่นที่สุดคือ ควาเม เอ็นกรูมา (Kwame Nkrumah) ประธานาธิบดีประเทศกานาในยุคนั้น เขาเป็นผู้ผลักดันแนวคิดดังกล่าว โดยได้กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้เกิดเป็นคนแอฟริกันเพียงเพราะเกิดในแอฟริกา แต่แอฟริกาเกิดในตัวข้าพเจ้าด้วย” ชี้ให้เห็นว่าแอฟริกามีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในภูมิภาคสูงมาก และความรู้สึกนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับความรู้สึกชาตินิยมในความเป็นชาติตนเอง คนแอฟริกันจะรู้สึกภูมิใจในความเป็นแอฟริกาควบคู่กับความเป็นชาติของตนเองได้ อย่างในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ในหมู่คนแอฟริกันจะทักทายกันราวกับว่ารู้จักกัน เป็นเพื่อนผองน้องพี่กันมาก่อนเหมือนกับว่ามีแหล่งกำเนิดร่วมกันแม้ว่ามาจากคนละประเทศกันก็ตาม ซึ่งถ้าเทียบกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราไม่มีความรู้สึกร่วมเช่นนี้เวลาเราเจอคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากชาติอื่น

อย่างไรก็ตาม หากจะรวมประเทศแอฟริกาทั้งหมด 55 ประเทศเพื่อสร้าง ‘สหรัฐแอฟริกา’ (United States of Africa) ให้เป็นไปตามฝันของเอ็นกรูมานั้นเป็นเรื่องทะเยอทะยานมาก การสร้างเขตการค้าเสรีอาจมีความเป็นไปได้ในอนาคต จากการที่หลายประเทศสมาชิกสหภาพแอฟริกาให้สัตยาบันข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (African Continental Free Trade Agreement) แล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดในปัจจุบัน การที่ประเทศสมาชิกสหภาพแอฟริกาจะยกระดับความร่วมมือ ตกลงลดกำแพงภาษีร่วมกันทั้งหมด 55 ประเทศเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ หลายประเทศต่างก็ยังมองเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติของตนเป็นหลัก ไม่อยากจะลดกำแพงภาษีหรือประนีประนอมเรื่องการค้าระหว่างกัน หรือยอมให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในภูมิภาคอย่างเสรี

ดังนั้น สหภาพแอฟริกาก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในสร้างเขตเศรษฐกิจเสรีพอสมควร รวมถึงการยกระดับรวมกลุ่มในการไปสู่การเป็นตลาดร่วม (common market) หรือสหภาพการเงิน (monetary union) ที่ใช้สกุลเงินร่วมกันอย่างสหภาพยุโรปด้วย แม้ว่าสหภาพแอฟริกาจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับที่แนบแน่นยิ่งขึ้นไปอีกก็ตาม

 

แอฟริกาในสมรภูมิ COVID-19 

แอฟริกานับได้ว่าเป็นทวีปที่มีการบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จนหลายฝ่ายมองว่าแอฟริกาเป็น ‘เรื่องราวของความสำเร็จ’ (‘success story’) เพราะมีจำนวนผู้เสียชีวิตในอัตราส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ รายงานเชิงสถิติชี้ว่า ทั้งทวีปแอฟริกามีผู้ติดเชื้อถึง 270,000 เคสโดยประมาณ เสียชีวิตทั้งทวีป 7,426 คน (สถิติ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2563) ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนมากเป็นประเทศขนาดใหญ่ อย่างประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดในทวีป คือแอฟริกาใต้ พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 83,890 เคส รองลงมาคืออียิปต์ ไนจีเรีย กานา และอัลจีเรีย

แม้ว่าทวีปแอฟริกาจะมีความเสี่ยงมากกว่าทวีปอื่นๆ เพราะมีข้อจำกัดทางสาธารณสุข มีประชากรจำนวนมาก และอยู่กันอย่างแออัดในหลายพื้นที่ แต่ปัจจัยสำคัญที่แอฟริกามีการแพร่กระจายของโควิด-19 ค่อนข้างต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ได้แก่ ประการแรก แอฟริกาใต้มีสัดส่วนประชากรหนุ่มสาวมากที่สุดในโลก อย่างมาลี ไนเจอร์ หรือแชดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยมาก ก็เพราะอยู่ในกลุ่มประเทศมีประชากรอายุน้อยกว่า 25 ปีกว่า 60% ในขณะที่มีประชากรสูงวัยเพียงแค่ 19% แต่อย่างในประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตมากกว่าที่อื่น เพราะมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีมากที่สุดในทวีป

ประการที่สอง ประเทศในแอฟริกาบางประเทศอย่างคองโก เคยผ่านประสบการณ์ในการจัดการโรคระบาดมาแล้วในช่วงปี 2014-2016 ซึ่งเกิดการระบาดของไวรัสอีโบลา

ประการที่สาม แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่ไม่ได้มีการเดินทางระหว่างประเทศมาก เกือบหนึ่งส่วนสามของทวีปเป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล นอกจากนี้ หลายประเทศในแอฟริกามีมาตรการป้องกันที่รัดกุม ตัดสินใจประกาศปิดประเทศตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาดและยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพียงแค่หลักหน่วย ประเทศแรกที่ประกาศปิดประเทศเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2020 คือรวันดา หรืออย่างเอธิโอเปียก็เป็นประเทศต่อมาที่ประกาศล็อกดาวน์ตั้งแต่ยังมีผู้ติดเชื้อเพียงแค่ 40 เคสเท่านั้น

ความสัมพันธ์ไทย-แอฟริกา

 

ที่จริงแล้ว กระทรวงการต่างประเทศและมหาวิทยาลัยในไทยกับประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกามีความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่ำประมาณ 20-30 ปีมาแล้ว เพียงแค่อาจยังไม่เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่สาธารณชน กรอบความร่วมมือใหญ่ระหว่างไทยและแอฟริกาส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนา อย่างคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็มีการริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลานิล มีการเข้าไปทำโครงการแนะนำการขุดบ่อปลานิลให้แก่เกษตรกรในประเทศโมซัมบิก หรือกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ก็มีการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาชาวแอฟริกันเข้ามาศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในไทยปีละจำนวนหลายทุน

แต่ในไทยยังขาดศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจ และผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับแอฟริกาให้สาธารณชนคนไทยรับรู้ หรือช่วยให้ชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวแอฟริกันหรือชาวต่างชาติชาติอื่นๆ รับรู้ว่าไทยและแอฟริกามีความร่วมมือหลายด้าน หลายฝ่ายที่ทำงานร่วมกับแอฟริกาจึงเล็งเห็นว่าควรเริ่มมีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว

ในอีกมุมหนึ่ง เราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ไทยและแอฟริกาสามารถและเปลี่ยนความรู้ เรียนรู้จากกันและกัน สร้างองค์ความรู้ร่วมกันได้ ไม่ใช่แค่เพียงไทยจะให้ความช่วยเหลือแอฟริกาแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือไทยจะหวังผลตอบแทนจากแอฟริกาเท่านั้น อย่างในด้านการเกษตร ก็มีมิติที่ไทยอาจอาศัยองค์ความรู้จากแอฟริกาได้ เช่นในด้านการเกษตร ไทยอาจเรียนรู้การปลูกอะโวคาโดให้มีคุณภาพดีได้จากประเทศยูกันดาได้ เป็นต้น

ส่วนในด้านองค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แม้ว่าจะมีงานศึกษาเปรียบเทียบแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแวดวงการศึกษาระดับโลกจำนวนหนึ่ง แต่งานลักษณะนี้ยังไม่ค่อยมีในไทย รวมทั้งยังไม่มีงานที่เปรียบเทียบแอฟริกากับไทย ศูนย์เอเชีย-แอฟริกาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU-AAC) ตั้งใจไว้ว่าอยากสนับสนุนงานวิชาการที่ศึกษาแอฟริกาและไทยในเชิงเปรียบเทียบได้ สามารถนำองค์ความรู้เชิงเปรียบเทียบไปใช้จริงในการพัฒนา หรือยกระดับการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นในปัจจุบัน

Related Posts

  • 101 One-on-One ep05 "อ่านพม่าและอาเซียน" กับ ลลิตา หาญวงษ์

    :: LIVE :: "อ่านพม่าและอาเซียน" กับ ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน 101 One-on-One | ep05…

  • 101 One-On-One Ep.155 : อ่านแอฟริกา กับ ลลิตา หาญวงษ์

    101 สนทนากับอาจารย์ ลลิตา หาญวงษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าด้วยการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทวีปแอฟริกาอย่างครบรส 

  • คำต่อคำ 101 One-on-One | ep.05 “อ่านพม่าและอาเซียน” กับ ลลิตา หาญวงษ์

    “อ่านพม่าและอาเซียน” แบบคำต่อคำ กับ ลลิตา หาญวงษ์ ในรายการ 101 One-on-One

  • กราฟิกดีไซเนอร์ กับ สกิลพิเศษ

    หลายคนอาจคิดว่า ‘กราฟิกดีไซน์เนอร์’ เป็นงานที่โดดเดี่ยว หรือต้องหมกมุ่นกับตัวเองเป็นส่วนใหญ่ แต่หารู้ไม่ว่า บรรดากราฟิกดีไซเนอร์ทั้งหลาย ล้วนต้องมี ‘สกิลพิเศษ’ ที่ช่วยให้งาน ‘ผ่าน’ ได้ง่ายขึ้น สกิลที่ว่านั้นคืออะไร ไปติดตามได้ในการ์ตูนแก๊กตอนใหม่ จาก ‘หัวนุ่ม’

  • ทำไมไม่แบนพาราควอต ตีแผ่ทุกเบื้องหลัง กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

    เผยเบื้องลึกเกี่ยวกับพาราควอต เปิดเอกสารประกอบการตัดสินใจ 'ไม่แบน' ที่รัฐไม่เปิดเผยให้ใครได้อ่าน และเหตุผลที่สารเคมีร้ายแรงจำนวนมากยังอยู่คู่กับสังคมไทย กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)

  • อย่าปะปน facts กับ truth

    วรากรณ์ สามโกเศศ เขียนถึงความต่างระหว่าง 'Fact' กับ 'Truth' ซึ่งแฝงอยู่ในแทบทุกเรื่องของชีวิต ตั้งแต่ฉลากสินค้า GDP ไปจนถึง 'การเป็นคนดี' การแยกแยะสองคำนี้ได้อาจทำให้เรามี 'เกราะกำบัง' ในชีวิตที่แข็งแกร่งขึ้น

เศรษฐกิจแอฟริกา แอฟริกา ความสัมพันธ์ไทย-แอฟริกา ประวัติศาสตร์แอฟริกา สหภาพแอฟริกา ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล ลลิตา หาญวงษ์

Print

  • Facebook iconFacebook
  • Twitter iconTwitter
  • LINE iconLine

เรื่อง: ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

กองบรรณาธิการ The 101.World - อดีตนักเรียนการเมือง เติบโตมาในโลกของความคิด แต่อยากออกมาวิ่งเล่นในโลกจริงบ้าง หลงใหลในโลกความรู้ สนใจการเมืองโลก สังคม และประวัติศาสตร์ เชื่อว่าความรู้เป็นเรื่องของทุกคน และฝันอยากผลิตความรู้ออกมาบ้างในอนาคต

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

flow chart แสดงขั้นตอนการปฏิบัติงาน lmyour แปลภาษา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ การเขียน flowchart โปรแกรม ตัวรับสัญญาณ wifi โน๊ตบุ๊คหาย ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน ผู้แต่งกาพย์เห่ชมไม้ ภูมิปัญญาหมายถึง มีสัญญาณ wifi แต่เชื่อมต่อไม่ได้ เชื่อมต่อแล้ว ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ /roblox promo code redeem 3 พระจอม มีที่ไหนบ้าง AKI PLUS รีวิว APC UPS APC UPS คือ Adobe Audition Adobe Bridge Anapril 5 mg Aqua City Odaiba Arcade Stick BMW F10 jerk Bahasa Thailand Benz C63 ราคา Bootstrap 4 Bootstrap 4 คือ Bootstrap 5 Brackets Brother Scanner Brother iPrint&Scan Brother utilities Burnt HD C63s AMG CSS เว้น ช่องว่าง CUPPA COFFEE สุราษฎร์ธานี Cathy Doll หาซื้อได้ที่ไหน Clock Humidity HTC-1 ColdFusion Constitutional isomer Cuppa Cottage เจ้าของ Cuppa Cottage เมนู Cuppa Cottage เวียงสระ DMC DRx จ่ายปันผลยังไง Detroit Metal City Div class คือ Drastic Vita