ประจำเดือนเหมือนจะมาแต่ไม่มาคืออะไร

ทั้งนี้แต่ละเดือนประจำเดือนอาจจะคลาดเคลื่อนไปได้บ้างประมาณ 7 วันค่ะ ตกขาวเป็นอาการที่ปกติที่เกิดขึ้นได้ทั้งก่อนประจำเดือนมาและหลังประจำเดือนหมด

หากอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับอาการก่อนมีประจำเดือนมักจะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน 1-2 สัปดาห์ เช่น เจ็บเต้านม ปวดท้อง สิวขึ้น อารมณ์เปลี่ยนแปลง น้ำหนักตัวเพิ่ม เป็นต้นค่ะ

การที่ผู้หญิงมีเลือดประจำเดือนออกมาทุกเดือนเป็นปกตินั้น จะต้องมีระบบการสร้างฮอร์โมนและมีระบบโครงสร้าง (กายวิภาค) ของระบบสืบพันธุ์เป็นปกติ โดยฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน คือ Gonadrotropin releasing hormone (GnRH) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากสมองส่วนลึกในสมองใหญ่ (Hypothalamus) ซึ่งจะไปกระตุ้นเนื้อเยื่อส่วนหน้าของต่อมใต้สมอง (Anterior pituitary gland) ให้สร้างฮอร์โมนเอฟเอสเอช (Folli cular stimulating hormone – FSH) และฮอร์โมนแอลเอช (Luteinizing hormone – LH) ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้จะไปกระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่จะไปทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรอรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับตัวอสุจิเพื่อที่จะตั้งครรภ์ต่อไป แต่หากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ดังกล่าวจะลดลง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกและมีการฉีกขาดของหลอดเลือดในโพรงมดลูกออกมาเป็นเลือดประจำเดือนต่อไป นอกจากนั้นระบบโครงสร้าง (กายวิภาค) ของระบบสืบพันธุ์จะต้องมีมดลูก ปากมดลูก และช่องคลอดที่ปกติด้วย เพื่อจะให้เลือดประจำเดือนไหลออกมาได้

หมายเหตุ : ประจำเดือน (Menstruation) หมายถึง การมีเลือดออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุก ๆ เดือน เป็นเวลาครั้งละ 2-7 วัน ซึ่งเป็นอาการแสดงของการเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น (อายุ 11-14 ปี) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ ภายในร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจริญพันธุ์ โดยอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนครั้งแรกของเด็กผู้หญิงไทยจะอยู่ที่ประมาณ 12 ปี 7 เดือน เด็กผู้หญิงทางภาคเหนือจะมีอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนเร็วกว่าภาคอื่น ๆ ส่วนเด็กทางภาคใต้จะมีอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนช้ากว่าภาคอื่น ๆ ในช่วง 1-2 ปีแรกที่เริ่มมีประจำเดือน ประจำเดือนจะมาแบบไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากการทำงานของรังไข่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์ จึงทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ

สาเหตุที่ประจำเดือนไม่มา

ภาวะขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ หรือ ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา (Primary amenorrhea) เป็นอุบัติการณ์ที่พบได้ค่อนข้างน้อย คือการที่สตรีไม่เคยมีประจำเดือนมาก่อน โดยใช้เกณฑ์อายุ 15 ปีที่ยังไม่เคยมีประจำเดือน (เกณฑ์เดิมใช้อายุ 16 ปี) หรือใช้เกณฑ์อายุ 13 ปีที่ยังไม่มีลักษณะทางเพศของสตรี เช่น มีการขยายของเต้านม สะโพกผาย มีขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศขึ้นตามปกติ (เกณฑ์เดิมใช้อายุ 14 ปี) ส่วนสาเหตุการขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมินี้อาจมีสาเหตุเกี่ยวกับความผิดปกติของรังไข่หรือฮอร์โมนภายในร่างกาย หรืออาจเกิดจากความผิดปกติทางโครงสร้าง (กายวิภาค) ของมดลูกหรือช่องคลอดมาแต่กำเนิด เช่น เยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด ไม่มีมดลูก รังไข่ หรือช่องคลอดมาตั้งแต่กำเนิด เป็นต้น หรือมีความผิดปกติของโครโมโซมทำให้มีผลต่อการทำงานของรังไข่ แต่ส่วนมากจะมีสาเหตุมาจากการเจริญเติบโตเป็นสาวที่ช้าโดยธรรมชาติ โดยไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น และมักจะมีประจำเดือนมาก่อนอายุครบ 15 ปี แต่ถ้าเลยจากนี้ไปแล้ว ก็น่าจะเกิดจากสาเหตุที่ผิดปกติดังที่กล่าวมา

  • สาเหตุการขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ คือ
    1. เยื่อพรหมจารีไม่เปิด (Imperforate hymen) เยื่อพรหมจารีคือเยื่อบาง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ปากช่องคลอดและมีขนาดความหนาประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ในกรณีนี้จัดเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่เยื่อพรหมจารีไม่ขาดเป็นรูหรือเป็นช่องเปิดสู่ภายนอกเพื่อเตรียมให้เลือดประจำเดือนไหลออกมาเมื่อถึงเวลาที่ประจำเดือนมา โดยผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นจนกว่าจะเข้าสู่วัยที่ควรมีประจำเดือน
    2. กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome) หรือ ภาวะต่อมเพศหรือรังไข่ไม่เจริญ (Gonadal dysgenesis) เป็นกลุ่มอาการที่อาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมหลายแบบ ซึ่งแบบที่พบบ่อยที่สุดคือการมีโครโมโซมเดี่ยว X ซึ่งเพศหญิงปกติจะมีโครโมโซม X สองแท่ง แต่ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโครโมโซม X หนึ่งแท่งที่หายไปหรือมีความผิดปกติ จึงทำให้ต่อมเพศ (รังไข่) ไม่เจริญ ไม่มีประจำเดือน เป็นหมันหรือมีลูกยาก ฯลฯ
    3. ภาวะไม่มีการสร้างของระบบท่อมุลเลอเรียน ( Müllerian agenesis) โรคนี้เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของภาวะไม่มีประจำเดือนแบบปฐมภูมิรองจากภาวะต่อมเพศหรือรังไข่ไม่เจริญ โดยเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อในตัวอ่อนชนิดที่เรียกว่า Mullerian duct ซึ่งในภาวะปกติเนื้อเยื่อนี้จะเจริญไปเป็นมดลูก แต่ไม่มีการพัฒนาหรือเจริญไปเป็นมดลูกตามปกติ ทั้งนี้อาจไม่มีการพัฒนาทั้งหมดหรือมีการพัฒนาแต่เพียงบางส่วน แต่รังไข่ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังคงเป็นปกติ เพราะมีการพัฒนามาจากเนื้อเยื่อคนละส่วนกัน ผู้ป่วยจึงมีลักษณะทางเพศของสตรีเป็นปกติ แต่จะไม่มีมดลูกและช่องคลอด
    4. กลุ่มอาการต่อต้านแอนโดรเจน (Androgen insensitivity syndrome – AIS) เป็นกลุ่มของความผิดปกติทางการเจริญทางเพศอย่างหนึ่งที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่สร้างแอนโดรเจน รีเซพเตอร์ (Androgen recepter) ซึ่งผลของความผิดปกติเหล่านี้มีหลายอย่างขึ้นกับโครงสร้างและความไว (Sensitivity) ของรีเซพเตอร์ที่ผิดปกติ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีโครโมโซมเป็น XY คือ เป็นชาย จึงไม่มีการสร้างมดลูก และมีต่อมเพศซึ่งเป็นของเพศชายที่คอยสร้างฮอร์โมน แต่เนื้อเยื่อทั่วไปของผู้ป่วยจะไม่มีการตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชาย จึงทำให้ลักษณะภายนอกของผู้ป่วยยังคงเป็นหญิงตามปกติ
    5. เนื้องอกของสมอง (เนื้องอกและมะเร็งสมอง) โตกดเบียดทับสมองหรือต่อมใต้สมองที่สร้างฮอร์โมนเพื่อการมีประจำเดือน หรือมีเนื้องอกของต่อมใต้สมอง จึงทำให้ระบบการทำงานของฮอร์โมนเสีย ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน

ภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ หรือ ภาวะประจำเดือนขาด (Secondary amenorrhea) เป็นอุบัติการณ์ที่พบได้เป็นส่วนมาก เป็นการที่สตรีเคยมีประจำเดือนมาก่อนแล้วต่อมาประจำเดือนเกิดขาดหายไปไม่มาติดต่อกัน 3 รอบเดือน ซึ่งในภาวะนี้ยังแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ การขาดประจำเดือนตามธรรมชาติ (Physiologic secondary amenorrhea) เช่น การตั้งครรภ์ ระยะหลังคลอดในช่วงที่ให้นมลูก ช่วงวัยทอง เป็นต้น และการขาดประจำเดือนเนื่องจากมีพยาธิสภาพหรือโรคภายในร่างกาย (Pathologic secondary amenorrhea)

  • สาเหตุการขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิที่พบได้บ่อย ๆ คือ
    1. การตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการขาดประจำเดือน เมื่อประจำเดือนที่เคยมาปกติทุกเดือนกลับไม่มา ควรสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ (ควรหาทางพิสูจน์ก่อนเสมอ ก่อนที่จะคิดถึงสาเหตุอื่น ๆ)
    2. ความเครียดทางด้านจิตใจ (Stress) อาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนอาจขาดหายไปได้คราวละหลาย ๆ เดือน เนื่องจากความเครียดนั้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน (GnRH)
    3. โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) โรคอารมณ์แปรปรวน (Mood disorders) ทำให้ประจำเดือนไม่มา ไม่มีความรู้สึกทางเพศ
    4. การใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาดได้เป็นธรรมดา
    5. ระยะหลังคลอดบุตรหรือการให้นมบุตร จะเป็นหลังแท้งบุตรหรือหลังคลอดบุตรก็ตาม ถ้ายังมีน้ำนมอยู่ก็เป็นเรื่องปกติที่ประจำเดือนจะยังไม่มาจนกระทั่งหย่านม
    6. วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน (Menopausal syndrome)
  • สาเหตุการขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิที่พบได้เป็นส่วนน้อย คือ
    1. กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง (PCOS) พบเป็นสาเหตุทำให้สตรีในวัยรุ่นมีประจำเดือนผิดปกติบ่อยที่สุด เพราะการที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบจะทำให้กลไกการทำงานของระบบเจริญพันธุ์ผิดปกติไป ทำให้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ที่พบได้บ่อยคือ หลาย ๆ เดือนประจำเดือนจะมาสักครั้ง แต่ละครั้งที่มีประจำเดือนเลือดจะออกมากและนาน แต่สตรีบางรายที่มีอาการมากก็อาจทำให้ประจำเดือนขาดหายไปเป็นปี ๆ เลยก็ได้ หรือบางรายก็อาจมีประจำเดือนกะปริดกะปรอยนานเป็น 10-20 วัน
    2. มีน้ำนมไหลโดยไม่ได้ตั้งครรภ์ (Galactorrhea) เป็นภาวะที่มีน้ำนมไหลโดยไม่ได้อยู่ในระยะให้นมบุตร เกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง เช่น อาจมีเนื้องอกของต่อมใต้สมอง ทำให้ขัดขวางฮอร์โมนที่ห้ามการสร้างน้ำนม จึงมีผลทำให้มีการสร้างน้ำนม ซึ่งจะไปกระทบต่อระบบประจำเดือนอีกทอดหนึ่ง หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ทำให้น้ำนมไหลได้ เช่น ยาทางจิตเวชบางชนิด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เป็นต้น
    3. ภาวะการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (โรคของต่อมไทรอยด์) ทั้งต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) และต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ (Hypothyroidism) จะมีผลไปกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน (GnRH) จึงทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
    4. เนื้องอกของต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไตหรือรังไข่
    5. ภาวะโลหิตจาง ในรายที่โลหิตจางมาก ๆ อาจทำให้มีอาการหน้ามืด วิงเวียน หรือมีประจำเดือนออกน้อยกว่าปกติได้
    6. ภาวะไตวายเรื้อรัง หากเกิดขึ้นในสตรีก็อาจทำให้มีประจำเดือนผิดปกติได้
    7. ตับแข็ง โรคนี้ในผู้หญิงอาจทำให้มีอาการประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือมีเสียงแหบห้าวคล้ายผู้ชายได้
    8. โรคชีแฮน (Sheehan’s syndrome) ทำให้ในช่วงหลังคลอดไม่มีประจำเดือนมาเลยในระยะเวลาที่ประจำเดือนควรจะมาแล้ว ซึ่งเกิดจากต่อมใต้สมองไม่สามารถผลิตฮอร์โมนที่จะไปกระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้
    9. โรคคุชชิง (Cushing’s syndrome) ทำให้ประจำเดือนผิดปกติจากการเพิ่มการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมีน้อยหรือไม่มีเลย
    10. การตีบตันของช่องคลอด ปากมดลูก หรือโพรงมดลูก เนื่องจากพังผืดหลั่งการอักเสบในโพรงมดลูกหรือหลังการขูดมดลูก
    11. การมีรูปร่างผอมหรืออ้วนเกินไป (Obesity) โดยเฉพาะในสตรีที่อ้วนเกินไป ประจำเดือนมักมาไม่ปกติ สามารถทำให้ขาดประจำเดือนไปได้คราวละหลาย ๆ เดือน เพราะในคนอ้วนผิวหนังสามารถเปลี่ยนเซลล์ไขมันไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะไปมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
    12. โรคกลัวอ้วน (Anorexia nervosa) คือ ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกเบื่ออาหารและน้ำ ไม่ยอมรับประทานอาหารจากการกลัวน้ำหนักที่จะเพิ่มมากเกินไป ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างมาก จึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน (GnRH)
    13. นักกีฬามาราธอนหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการหลั่งของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน (GnRH)
    14. การฉายรังสี โดยเฉพาะการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะไปทำลายรังไข่ ทำให้รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ ประจำเดือนจึงไม่มา
    15. การให้ยาเคมีบำบัด ในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด ซึ่งจะมีผลไปทำลายรังไข่ ทำให้รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ ประจำเดือนจึงไม่มา
    16. การใช้ยาบางชนิด อาจทำให้ประจำเดือนไม่มาได้ เช่น ยาแก้โรคซึมเศร้า, ยารักษาโรคไทรอยด์, antidepressants, antipsychotics, corticosteroids เป็นต้น
    17. การผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
    18. ร่างกายอ่อนแอจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง
    19. ภาวะขาดอาหาร จะเนื่องมาจากภายใน เช่น การดูดซึมอาหารของลำไส้ไม่ดีเอง หรือจากภาวะภายนอก เช่น ในระหว่างสงครามที่อาหารขาดแคลน หรือแม้แต่ในศูนย์อพยพต่าง ๆ จะพบว่ามักมีการขาดหายประจำเดือนร่วมด้วยเป็นประจำ

อาการประจำเดือนไม่มา

  • ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา (ภาวะขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ) ผู้ปกครองควรสังเกตการมาของประจำเดือนของบุตรสาวด้วย ถ้าประจำเดือนครั้งแรกยังไม่มาทั้ง ๆ ที่เลยอายุที่ควรจะมีประจำเดือนแล้ว (อายุเลย 14 ปี) โดยทั่วไปมักจะไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติที่เกี่ยวกับรังไข่หรือฮอร์โมน ซึ่งอาจทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตทางเพศ เช่น หน้าอกแฟบเหมือนผู้ชาย ไม่มีขนรักแร้ หรือขนที่อวัยวะเพศ เป็นต้น
    • ในรายที่เกิดจากเยื่อพรหมจารีไม่เปิด (Imperforate hymen) ผู้ป่วยมักจะมีเลือดประจำเดือนออกมาทุกเดือน แต่จะคั่งอยู่ในช่องคลอดเพราะเยื่อพรหมจารีปิดกั้นไว้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดท้องเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 3-5 วัน และอาการปวดจะมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีประจำเดือนออกมาให้เห็น อาจมีอาการคัดตึงเต้านมร่วมด้วยในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการมีอาการปวดท้องน้อย และอาจตรวจพบเยื่อพรหมจารีโป่งพองขึ้นเนื่องจากมีก้อนเลือดที่คั่งอยู่ในช่องคลอดคอยดันเยื่อนี้ให้โป่งออก

  • ภาวะประจำเดือนขาด (ภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ) ผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนมาเป็นประจำทุกเดือน อยู่ ๆ ก็ไม่มีประจำเดือนมา ส่วนมากจะไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ นอกจาก
    • ในรายที่เกิดการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจทำให้มีอาการแพ้ท้อง
    • ในรายที่เกิดจากโรคกังวลหรือซึมเศร้า ก็มักจะมีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ เบื่อหน่าย ท้อแท้สิ้นหวัง
    • ในรายที่เกิดจากเนื้องอกของรังไข่ เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง ตามืดมัวลงเรื่อย ๆ มีหนวดและขนขึ้นผิดธรรมชาติ น้ำนมออกผิดธรรมชาติ เป็นต้น
    • ในรายที่เป็นโรคชีแฮน (Sheehan’s syndrome) อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เฉื่อยเนือย เต้านมแฟบ ขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศร่วง
    • นอกจากนี้ อาจมีอาการแสดงต่าง ๆ ตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง (PCOS), ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism), ภาวะไตวายเรื้อรัง, โรคคุชชิง (Cushing’s syndrome), ซีด เป็นต้น

ผลข้างเคียงจากการขาดประจำเดือน

ผลข้างเคียงที่เกิดจากภาวะขาดประจำเดือนที่ไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ขาดประจำเดือน หากเกิดจากรังไข่ไม่ทำงานก็จะมีอาการคล้ายกับคนวัยหมดประจำเดือน เช่น มีอาการร้อนวูบวาบตามตัว แต่หากเกิดจากเยื่อบุมดลูกบางจนไม่มีเลือดออก เช่น จากการขูดมดลูก การฉีดยาคุมกำเนิด ก็อาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยในวัยรุ่นที่เกิดภาวะขาดประจำเดือนคือ ไม่มีการตกไข่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเปลี่ยนแปลงแบ่งตัวมากผิดปกติ เป็นสาเหตุทำให้มีเลือดออกจากโพรงมดลูกแบบกะปริดกะปรอยได้

การวินิจฉัยหาสาเหตุของการขาดประจำเดือน

แพทย์สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุได้จากอายุ ประวัติการมีประจำเดือน ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาโดยเฉพาะยาคุมกำเนิดและยาฮอร์โมนต่าง ๆ ประวัติอาการร่วมต่าง ๆ (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน) ร่วมกับการตรวจร่างกายและการตรวจภายใน นอกจากนั้นอาจมีการตรวจอื่น ๆ ทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ซึ่งมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ความผิดปกติที่ตรวจพบ และดุลยพินิจของแพทย์ (ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเหมือนกันทุกราย) เช่น

  • การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจเพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ โดยเป็นการตรวจที่ง่ายและสะดวก สามารถตรวจได้ด้วยตนเองจากการหาซื้อเครื่องตรวจตามร้านขายยา ซึ่งจะมีความไวของตัวทดสอบสูงมากถึง 99% อาจตรวจได้ผลบวกหรือผลลบของการตั้งครรภ์ก็ได้ตั้งแต่ประจำเดือนเลยกำหนดไปได้เพียง 1 วัน เป็นการตรวจที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกหากสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่เคยมีประจำเดือนมาปกติแต่แล้วเกิดขาดหายไป
  • การตรวจระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (Serum beta hCG) ในเลือด เพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริงหรือไม่หากตรวจปัสสาวะแล้วยังไม่แน่ใจ หรือเนื่องจากมีบางกรณีที่การตั้งครรภ์ยังอ่อนมาก จึงตรวจไม่พบฮอร์โมนในปัสสาวะ ก็อาจมีความจำเป็นต้องตรวจเลือด แต่ต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีการตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจอัลตราซาวนด์ โดยเฉพาะการตรวจผ่านทางช่องคลอด ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานได้ชัดเจนขึ้นว่ามีก้อนเนื้องอกต่าง ๆ หรือเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ รอบรังไข่ (PCOS) หรือรังไข่มีความผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid function test) เป็นการตรวจเพื่อดูภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ามีมากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งแพทย์มักตรวจเมื่อมีผลการตรวจเบื้องต้นต่าง ๆ ออกมาแล้วไม่พบความผิดปกติ
  • การตรวจฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin hormone) เป็นการตรวจเพื่อดูระดับฮอร์โมนว่าสูงมากน้อยเพียงใด หากพบว่าอยู่ในระดับสูง อาจบ่งบอกว่ามีเนื้องอกในสมอง ซึ่งแพทย์มักจะตรวจเมื่อผลการตรวจเบื้องต้นอื่น ๆ ตามที่กล่าวมาแล้วไม่พบความผิดปกติ
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอที่สมอง ( Magnetic Resonance Imaging Brian) เป็นการตรวจเฉพาะในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีเนื้องอกในสมอง
  • การตรวจฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH เพื่อดูว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วหรือยัง
  • การตรวจหาโครโมโซม (Chromosome study) เป็นการตรวจที่มักทำให้รายที่มีการขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิเพื่อดูว่า มีโครโมโซมผิดปกติเป็นชนิดใด 45XO, 46XX, หรือ 46XY ซึ่งจะใช้เป็นตัวแยกโรคต่าง ๆ ออกจากกันได้

วิธีรักษาประจำเดือนไม่มา

  • ในรายที่ประจำเดือนไม่เคยมา ถ้ามีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด ซึ่งแพทย์อาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่น ๆ แล้วให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
    • ในรายที่เกิดจากเยื่อพรหมจารีไม่เปิด อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเปิดให้มีทางระบายของเลือดประจำเดือน
    • ในรายที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตตามปกติเช่นเด็กสาวทั่วไป เช่น มีเต้านมโต มีขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศตามปกติ และไม่มีอาการปวดท้องหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจให้รอดูจนอายุ 15 ปี แต่ถ้าเลยจากนี้ไปแล้วและประจำเดือนยังไม่มา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูกหรือช่องคลอด

  • ในรายที่ประจำเดือนขาด (เคยมีประจำเดือนมาแล้ว) ต้องตรวจปัสสาวะว่า มีการตั้งครรภ์หรือไม่ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งในปัจจุบันแถบตรวจการตั้งครรภ์สามารถหาซื้อได้ง่ายและสะดวก หากไม่มีการตั้งครรภ์ และ/หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือสงสัยว่ามีสาเหตุร้ายแรง ควรไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์เสมอ เพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยการตรวจภายในช่องคลอด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ หรืออาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย แล้วให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
    • ถ้าเกิดจากการตั้งครรภ์ หรือโรคกังวลใจ ก็ให้การรักษาไปตามสาเหตุนั้น ๆ
    • หากไม่มีการตั้งครรภ์ แพทย์อาจให้ยาโปรเจสโตเจน (Progestogen) เพื่อทดสอบดูว่ารังไข่ยังทำงานเป็นปกติดีหรือไม่ เรียกว่า Progestin challenge test โดยให้รับประทานยาพริมโมลูท เอ็น (Primolut N®) 5 มิลลิกรัม เช้า 1 เม็ด และเย็น 1 เม็ด เป็นเวลา 7 วัน หรือให้รับประทานยาโปรเวรา (Provera®) 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน แล้วรอสังเกตว่าหลังยาหมด 2-3 วัน จะมีเลือดประจำเดือนออกมาหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปหากการทำงานของรังไข่ยังเป็นปกติ จะมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนไปกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น เมื่อได้รับฮอร์โมนโปรเจสตินจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เยื่อบุโพรงมดลูกแล้วหลุดออกมาเป็นประจำเดือนเลียนแบบธรรมชาตินาน 3-7 วัน แต่หากหลังจากหยุดรับประทานยาแล้วยังไม่มีประจำเดือนออกมา อาจมีสาเหตุมาจากรังไข่ทำงานไม่ดี จึงไม่สามารถกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวได้ หรืออาจมีความผิดปกติที่ช่องทางออกของประจำเดือน ซึ่งต้องมีการทดสอบกันต่อไป โดยการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน+ฮอร์โมนโปรเจสติน (Estrogen –Progestin challenge test) หรือให้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมไปรับประทานแทนประมาณ 15-20 วัน เมื่อยาหมด 2-3 วัน ให้สังเกตว่ามีเลือดประจำเดือนออกมาหรือไม่ ถ้ามีประจำเดือนออกมาก็แสดงว่า “ขาดฮอร์โมนจากรังไข่” ซึ่งอาจเกิดจากรังไข่ไม่ทำงาน ซึ่งต้องสืบหาสาเหตุและพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนต่อไป แต่หากไม่มีเลือดประจำเดือนออกมาก็แสดงว่าน่าจะมีการอุดตันหรือขัดขวางทางออกของเลือดประจำเดือน ซึ่งอาจเกิดจากตัวมดลูกมีพังผืดหรือตีบ ซึ่งต้องสืบหาสาเหตุต่อไปเช่นเดียวกัน
    • หากมีอาการอื่นที่ชวนสงสัยว่าเป็นโรคของต่อมไทรอยด์ ก็ต้องตรวจดูการทำงานของต่อมไทรอยด์และรักษาไปตามแนวทางนั้น ๆ
    • หากมีน้ำนมไหล ต้องตรวจฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin hormone) เพื่อดูว่ามีเนื้องอกในสมองหรือไม่ ถ้ามีก็ให้รักษาไปตามแนวทางของสาเหตุนั้น ๆ
    • สำหรับกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง (PCOS) ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน ระดับฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าในสตรีทั่วไป ทำให้หน้าเป็นสิว ผิวมัน ไม่มีการตกไข่ จึงไม่มีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะมาทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน นอกจากนั้นกลไกการเกิดภาวะนี้ยังอาจเกิดจากการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินไม่มีประสิทธิภาพพอ คนเหล่านี้ส่วนมากจึงมีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ให้ยาต้านเบาหวาน ให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด แต่หากผู้ป่วยต้องการมีบุตร แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยากระตุ้นการตกไข่แทนการรับประทานยาคุมกำเนิด
    • ในรายที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัดและร่างกายยังเป็นปกติดีทุกอย่าง แพทย์อาจให้รออาการสัก 3 เดือน ถ้ายังไม่มีประจำเดือนก็ควรรีบกลับมาพบแพทย์อีกครั้งเพื่อตรวจหาสาเหตุที่อาจรุนแรงได้
  • คำแนะนำในการดูแลตนเองเมื่อประจำเดือนขาดหาย
    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    • หลีกเลี่ยงความเครียด ปรับพฤติกรรมการทำงาน การออกกำลังกาย และการพักผ่อนอย่างเหมาะสม
    • ควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างพอประมาณไม่หักโหม แต่สม่ำเสมอ เพื่อคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • เน้นการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และใช้สารเสพติด
    • สังเกตใบหน้าตนเองว่ามีสิวมากขึ้น ผิวหน้ามัน หรือมีขนขึ้นผิดปกติหรือไม่ เพราะอาจเป็นอาการจากโรคของรังไข่
    • สังเกตว่าตนเองมีน้ำนมไหลทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ให้นมบุตร หรือมีอาการตาพร่ามัว ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคเนื้องอกสมอง (เนื้องอกและมะเร็งสมอง) หรือเนื้องอกต่อมใต้สมอง
    • พยายามสังเกตว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นกับตนเองหรือไม่ เช่น มีอาการใจสั่น เหนื่อยง่ายหรือไม่ หรือเป็นคนขี้ร้อนหงุดหงิดง่าย รู้สึกผิวหนังชื้นมาก เหงื่อออกเยอะ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ หรือรู้สึกเฉื่อยชา เหนื่อยง่าย ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติก็ได้
  • เมื่อดูแลตนเองในเบื้องต้นเป็นอย่างดีแล้ว และ/หรือมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์หรือสูตินรีแพทย์เสมอ
    • เป็นภาวะขาดประจำเดือนแบบปฐมภูมิและมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย
    • เป็นภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิและตรวจไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์
    • มีการขาดประจำเดือนร่วมกับเป็นโรคอ้วนหรือผอมมาก, มีน้ำนมไหล ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ให้นมบุตร, มีอาการขี้ร้อน ผิวหนังชื้นมาก เหงื่อออกเยอะ, เหนื่อยง่าย ใจสั่น, ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว, มีขนหรือหนวดขึ้นมากผิดปกติ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ประจำเดือนไม่มา/ประจำเดือนขาด (Amenorrhea)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 883-884.
  2. หาหมอดอทคอม.  “ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea)”.  (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [06 ก.ค. 2016].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 12, 17 คอลัมน์ : หญิงอ่านดี..ชายอ่านได้.  “ประจำเดือนขาด”.  (นพ.พนิตย์ จิวะนันทประวัติ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [07 ก.ค. 2016].
  4. Siamhealth.  “ภาวะไม่มีประจำเดือน Amenorrhea”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [07 ก.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.newhealthadvisor.com, womenshealtharticles.com, www.healthguide.net

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย

เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

flow chart แสดงขั้นตอนการปฏิบัติงาน lmyour แปลภาษา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ การเขียน flowchart โปรแกรม ตัวรับสัญญาณ wifi โน๊ตบุ๊คหาย ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน ผู้แต่งกาพย์เห่ชมไม้ ภูมิปัญญาหมายถึง มีสัญญาณ wifi แต่เชื่อมต่อไม่ได้ เชื่อมต่อแล้ว ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ /roblox promo code redeem 3 พระจอม มีที่ไหนบ้าง AKI PLUS รีวิว APC UPS APC UPS คือ Adobe Audition Adobe Bridge Anapril 5 mg Aqua City Odaiba Arcade Stick BMW F10 jerk Bahasa Thailand Benz C63 ราคา Bootstrap 4 Bootstrap 4 คือ Bootstrap 5 Brackets Brother Scanner Brother iPrint&Scan Brother utilities Burnt HD C63s AMG CSS เว้น ช่องว่าง CUPPA COFFEE สุราษฎร์ธานี Cathy Doll หาซื้อได้ที่ไหน Clock Humidity HTC-1 ColdFusion Constitutional isomer Cuppa Cottage เจ้าของ Cuppa Cottage เมนู Cuppa Cottage เวียงสระ DMC DRx จ่ายปันผลยังไง Detroit Metal City Div class คือ Drastic Vita