พรบ คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ตัวอย่าง

“โพสต์ไม่คิด… ชีวิตอาจพัง” ถ้อยคำที่ถูกเผยแพร่ผ่านทางทวิตเตอร์ของกองทัพบก @armypr_news เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2560 แม้ปัจจุบันอาจจะถูกลบไปแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ของประชาชน ด้วยการสื่อสารผ่านรูปว่าการแสดงความเห็นนั้นอาจนำไปสู่การติดคุกได้ เช่นเดียวกับที่ทวิตเตอร์ของกองทัพบกเคยส่ง ‘ความปรารถนาดี’ เกี่ยวกับการแชร์เนื้อหาออนไลน์ก่อนหน้านี้

เมื่อเดือนมกราคม 2560 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ของ พ.ร.บ. นี้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระบุเจตนารมณ์ของการแก้ไขส่วนหนึ่งว่า เดิม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตรา 14 (1) มักถูกพ่วงไปฟ้องกับการกระทำผิดใด ๆ ทางอินเตอร์เน็ต ทั้งที่มาตรานี้กำหนดให้ใช้กับการกระทำผิดในเรื่องฉ้อโกง หรือหลอกลวงกันทางออนไลน์

เพราะเดิมกฎหมายฉบับนี้ถูกนำมาใช้ตั้งข้อหากับคนที่โพสต์ด่าทอกันทางออนไลน์ รวมถึงดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นทางการเมือง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ในลักษณะที่เรียกว่า ‘ฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SLAPPs ที่นี่)

มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

กรณีตัวอย่าง เช่น นายอานดี้ ฮอลล์ (Mr.Andy Hall) นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน ถูกบริษัทผลไม้กระป๋องฟ้องด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 จากการเขียนงานวิจัยที่มีเนื้อหาว่าบริษัทดังกล่าวจ้างแรงงานเด็กด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และกรณีกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย ถูกบริษัท ทุ่งคำฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ฟ้องร้องดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทจากการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ ร่วมกับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 เนื่องจากเทปบันทึกรายการสัมภาษณ์ถูกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

การแก้ไขจึงเพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า มาตรานี้ใช้กับการฉ้อโกง ปลอมแปลง หรือหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ และเขียนให้ชัดเจนว่า ไม่ให้เอาไปใช้กับเรื่องหมิ่นประมาทที่มีระบุไว้อยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ แต่หากกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะยอมความไม่ได้ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี

มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 แก้ไขแล้วมีเนื้อความว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้ 

ตามหลักกฎหมาย หากมีการแก้กฎหมายใหม่ และกฎหมายที่แก้นั้นยกเลิกความผิดตามที่มีอยู่ในกฎหมายเดิม หรือมีโทษเบาลง ให้นำกฎหมายที่ออกใหม่มาบังคับใช้ แม้การกระทำจะเกิดขึ้นก่อนมีการประกาศกฎหมายใหม่ก็ตาม

หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ได้ราว 6 เดือน คดีความที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับเดิมต่างทยอยสิ้นสุดคดีจากการสั่งไม่ฟ้องในชั้นอัยการ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการบังคับใช้มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ในจำนวนนี้มีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 2 คดี

คดีโพสต์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์

คดีแรก คือ คดีของ ‘แจ่ม’ (นามสมมติ) ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความ ถึงความขัดแย้งภายใน คสช. จากกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558

เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการศาลทหารกรุงเทพ อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากเห็นว่าคดีนี้ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 116 อัยการทหารจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ทว่าพนักงานสอบสวนยังคงนำสำนวนการสอบสวนเดิมส่งต่อให้อัยการศาลจังหวัดพระโขนง

อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในเดือนเมษายน 2560 โดยให้เหตุผลว่า ข้อความในเฟซบุ๊กของ ‘แจ่ม’ เป็นความเชื่อของผู้กล่าวหาว่าเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่มีพยานยืนยันว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ และขณะเกิดเหตุประชาชนทั่วไปกำลังสนใจเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์

อัยการเห็นว่า การกระทำของ ‘แจ่ม’ เป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แม้ว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นการใส่ความ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุววรณ และ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เข้าลักษณะหมิ่นประมาทก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้ (อ่านรายละเอียดคดี ‘แจ่ม’ ที่นี่)

จะเห็นได้ว่า ในความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุดเขียนครอบคลุมไปถึงว่า โพสต์ของ ‘แจ่ม’ ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ มาตรา 14 (2) ด้วย

คดีโพสต์วิจารณ์ตำรวจอ้าง ม.44 ค้นบ้าน

อีกคดี คือ คดีของบริบูรณ์ เกียงวรางกูล ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) จากการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตำรวจเข้าค้นบ้าน โดยอ้างอำนาจตาม มาตรา 44

นายบริบูรณ์ เกียงวรางกูร (ชายสวมเสื้อสีขาวแถวหน้าสุด)

บริบูรณ์ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการศาลจังหวัดราชบุรีเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ใจความว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2560 โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ยกเลิกข้อความใน มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับเดิม และบัญญัติใหม่ไว้ว่า ห้ามมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ลงโทษกับการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา จึงขอให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (อ่านรายละเอียดคดีบริบูรณ์ที่นี่)

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2560 อัยการศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีบริบูรณ์ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนข้อหาหมิ่นประมาทยังอยู่ระหว่างอัยการศาลแขวงราชบุรีทำความเห็น โดยจะนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีวันที่ 26 ธ.ค. 2560

แสดงให้เห็นว่าในชั้นอัยการเริ่มมีการปรับใช้กฎหมายให้ตรงกับเจตนารมณ์ที่แก้ไข แต่ยังมีอีกคดีที่น่าจับตา คือคดีของรินดา พรศิริพิทักษ์

คดีโพสต์ข่าวลือประยุทธ์โอนเงินหมื่นล้าน

คดีของรินดาคล้ายกับกรณีของ ‘แจ่ม’ เธอถูกทหารควบคุมตัวและนำมาตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จากการโพสต์เฟซบุ๊กข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์ และภริยาโอนเงินหมื่นล้านไปประเทศสิงคโปร์

คดีของรินดาถูกฟ้องขึ้นสู่ศาลทหารกรุงเทพ แต่ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร เมื่อมีการโต้แย้งเขตอำนาจศาล ศาลอาญาจึงทำความเห็นในทำนองเดียวกับศาลทหารว่าคดีนี้ไม่เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 คดีจึงถูกจำหน่ายออกจากศาลทหาร (อ่านรายละเอียดคดีของรินดาที่นี่)

รินดา พรศิริพิทักษ์

พนักงานสอบสวนนำสำนวนสอบสวนเดิมไปส่งฟ้องต่ออัยการศาลอาญา อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยไม่ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นวงเล็บใด เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559 ก่อน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ประกาศใช้ ปัจจุบันคดีนี้สืบพยานเสร็จสิ้น ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 25 ม.ค. 2561

หากอ้างอิงจากคดี ‘แจ่ม’ คดีของรินดาไม่อาจลงโทษฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาได้ เพราะผู้เสียหายคือ พล.อ.ประยุทธ์ และภริยาไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้ รวมถึงไม่น่าจะเป็นการฉ้อโกง ปลอมแปลง หรือหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ ซึ่งอาจจะเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่

ส่วนจะเป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) หรือไม่ คดีนี้อาจเป็นคดีแรก ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่า ศาลตีความถ้อยคำ “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐฏิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก” ว่าอย่างไร

อย่างไรก็ตาม คดีของรินดายังไม่น่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 14 (3) เนื่องจากทั้งศาลทหารกรุงเทพและศาลอาญาต่างก็เห็นตรงกันมาครั้งหนึ่งแล้วว่าข้อความของเธอไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ด้วย

คดีนี้จึงอยู่ที่ศาลว่าจะนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่มาบังคับใช้ได้ตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่ และตีความเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนเพียงใด หรือสุดท้าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่อาจไม่ได้นำมาใช้คู่กับคดีหมิ่นประมาทแล้ว แต่จะยังคงเป็นเครื่องมือของรัฐในการฟ้องปิดปากประชาชนที่ต้องการตรวจสอบการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2) ?

116 ทุจริตอุทยานราชภักดิ์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ม.44 มาตรา 44

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

flow chart แสดงขั้นตอนการปฏิบัติงาน lmyour แปลภาษา กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ การเขียน flowchart โปรแกรม ตัวรับสัญญาณ wifi โน๊ตบุ๊คหาย ตัวอย่าง flowchart ขั้นตอนการทํางาน ผู้แต่งกาพย์เห่ชมไม้ ภูมิปัญญาหมายถึง มีสัญญาณ wifi แต่เชื่อมต่อไม่ได้ เชื่อมต่อแล้ว ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ /roblox promo code redeem 3 พระจอม มีที่ไหนบ้าง AKI PLUS รีวิว APC UPS APC UPS คือ Adobe Audition Adobe Bridge Anapril 5 mg Aqua City Odaiba Arcade Stick BMW F10 jerk Bahasa Thailand Benz C63 ราคา Bootstrap 4 Bootstrap 4 คือ Bootstrap 5 Brackets Brother Scanner Brother iPrint&Scan Brother utilities Burnt HD C63s AMG CSS เว้น ช่องว่าง CUPPA COFFEE สุราษฎร์ธานี Cathy Doll หาซื้อได้ที่ไหน Clock Humidity HTC-1 ColdFusion Constitutional isomer Cuppa Cottage เจ้าของ Cuppa Cottage เมนู Cuppa Cottage เวียงสระ DMC DRx จ่ายปันผลยังไง Detroit Metal City Div class คือ Drastic Vita